วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง

04 ก.ค. 66  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

วัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง

รู้หรือไม่ เพศชายก็สามารถฉีด “วัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV” หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก” ได้เช่นกัน ซึ่งจากคำแนะนำนี้ก็ทำให้ชายหลายคนเกิดความสงสัยไม่น้อย เพราะในเมื่อชื่อวัคซีนที่บ่งบอกว่าเป็นวัคซีนสำหรับผู้ที่มีมดลูก แล้วเพศชายจะฉีดวัคซีน HPV นี้ไปทำไม ดังนั้นเรามาดูกันว่าเพราะอะไรถึงแนะนำให้ทุกคนเข้ารับวัคซีน HPV และฉีดแล้วสามารถป้องกันอะไรได้บ้าง

ทำไมเพศชายถึงควรฉีดวัคซีน HPV และใครบ้างที่ควรฉีด

HPV (Human Papilloma Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการสัมผัส โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ในทุกรูปแบบและเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคร้ายต่างๆ มากมาย อีกทั้งเชื้อไวรัส HPV นี้สามารถติดต่อกันได้ทุกเพศ ดังนั้นเพศชายและเพศอื่นๆ ก็สามารถติดเชื้อ HPV ได้เช่นกันด้วยเพราะเชื้อไวรัส HPV นั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็ก่อให้เกิดโรคที่แตกต่างกัน อีกทั้งหากเพศชายติดเชื้อไวรัส HPV ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้ไม่ต่างจากเพศหญิงเลย ดังนั้นเรามาดูกันว่า HPV มีสายพันธุ์อะไรบ้างและแต่ละสายพันธุ์สามารถก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

HPV มีหลายสายพันธุ์ แบ่งเป็น

  1. กลุ่มเสี่ยงต่ำ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 40,42, 43, 44 เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและหูดหงอนไก่ที่ทางเดินหายใจ
  2. กลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 34, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58 เป็นต้น เป็นสายพันธุ์ที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอดในเพศหญิง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดมะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งช่องปากและลำคอได้อีกด้วย

จากข้อมูลผลการศึกษาของ Systematic review ในต่างประเทศ ความชุกของการติดเชื้อ HPV ในผู้ชายนั้น สามารถพบเจอได้มากถึงร้อยละ 72.9 โดยสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งทวารหนัก มะเร็งที่อวัยวะเพศชายและมะเร็งช่องปากและลำคอ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV นับเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดในทุกเพศอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงได้ที่นี่

ความแตกต่างของเชื้อ HPV ในเพศชายและเพศหญิง 

แม้เราจะรู้แล้วว่าเพศชายก็สามารถติดเชื้อไวรัส HPV ได้ และก่อให้เกิดโรคได้ไม่ต่างจากเพศหญิง แต่การติดเชื้อในเพศชายก็ยังมีความแตกต่างที่น่าเป็นห่วงมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากเหตุผลดังต่อไปนี้

  • ความชุกของการติดเชื้อในผู้ชายไม่ลดลงตามช่วงอายุ 
  • ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV ในเพศชายค่อนข้างต่ำ ทำให้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ หากเคยเป็นแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้
  • เพศชายสามารถติดเชื้อ HPV ได้หลายสายพันธุ์ไม่แตกต่างจากเพศหญิง
  • ยังไม่มีการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย จึงทำให้การวินิจฉัยโรคได้ช้ากว่า

อาการที่พบหากติดเชื้อ HPV ในเพศชาย

  • อาการหูดหงอนไก่จากการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย อาการของหูดหงอนไก่จะสังเกตได้หลังจากได้รับเชื้อไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งจะมีอาการคัน ร่วมกับการสังเกตได้ว่าผิวหนังมีลักษณะเป็นเนื้อนูนๆ ตะปุ่มตะปํ่าคล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ มักเกิดบริเวณส่วนปลายของอวัยวะเพศ ผิวหนังบริเวณอัณฑะ ผิวบริเวณทวารหนัก หรืออาจเกิดที่กระพุ้งแก้ม ในช่องปากและในลำคอได้ ซึ่งการติดเชื้อในช่องปากและลำคอ อาจทำให้มีอาการเคืองคอ มีเสมหะมาก น้ำลายในปากเยอะขึ้น และหากก้อนหูดโตขึ้นก็อาจทำให้กลืนได้ลำบากมากขึ้น
  • อาการมะเร็งในช่องปากและมะเร็งลำคอจากการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย มักมีอาการเจ็บคอ ปวดหู ไอเรื้อรัง กลืนลำบาก เสียงแหบ น้ำหนักลงลดโดยไม่มีสาเหตุหรือไม่ได้ลดความอ้วน และคลำเจอก้อนผิดปกติที่บริเวณในช่องปากหรือลำคอ
  • อาการมะเร็งทวารหนักจากการติดเชื้อ HPV ในเพศชาย เป็นมะเร็งที่สังเกตได้ยาก เพราะบางคนไม่มีอาการอะไรแสดงออกมาเลย แต่ในบางคนก็มีอาการที่สังเกตได้เช่นกัน เช่น ก้อนต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต อุจจาระปนเลือด คัน มีกลิ่นเหม็นไปจากเดิม มีน้ำเหลืองไหลร่วมด้วย รวมถึงอุจจาระมีขนาดเล็กและท้องผูกบ่อยขึ้น เป็นต้น 

แม้ว่าปัจจุบันการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่เพศหญิงก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV ในเพศชายและเพศอื่นๆ ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่ได้กล่าวไปให้กับตนเองและป้องกันการติดต่อไปยังคู่ของเราอีกด้วย โดยการรับวัคซีนจะมีประสิทธิภาพดีที่สุดหากเราได้รับวัคซีนตั้งแต่ก่อนที่จะมีความเสี่ยง หรือมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ในปัจจุบัน

ลดความเสี่ยง ป้องกันมะเร็งปากมดลูกและโรคที่เกิดจากเชื้อ HPV ได้ ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV 9 สายพันธุ์ 3 เข็ม จากโรงพยาบาลวิมุตในราคาพิเศษ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก โปรแกรมวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV 9 สายพันธุ์ 3 เข็ม

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0066 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก ที่นี่เราได้รวมข้อมูลเพื่อคุณแม่มือใหม่มาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง