รักแต่ไม่ป้องกัน ต้องระวัง 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้ !

11 ม.ค. 66  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

 

รักแต่ไม่ป้องกัน ต้องระวัง 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้ !

การมีเพศสัมพันธ์หรือ “เซ็กส์” นั้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นเรื่องสำคัญของชีวิตคู่ แต่หลายคนกลับได้รับของฝากภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งหลายโรคมักไม่แสดงอาการ หรือแสดงอาการให้เห็นก็ต่อเมื่อโรคลุกลามไปไกล... จากสถิติในหลายปีที่ผ่านมาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ดังนั้น เพื่อสร้างความตระหนักต่อปัญหานี้ วันนี้เรามาดูกันว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโรคอะไรบ้างที่ควรรู้ อาการและความรุนแรงเป็นอย่างไรเรารวบรวมมาให้แล้วที่นี่ 

มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน… ต้องระวัง 5 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้

  1. HPV (เอชพีวี)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เราคุ้นหูกันดีในผู้หญิง เพราะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ก่อมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง และมะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งช่องปากในผู้ชาย รวมถึงยังเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดหูดหงอนไก่ตามบริเวณอวัยวะเพศทั้งภายนอกและภายใน รวมบริเวณใกล้เคียงต่างๆ อย่างขาหนีบ หรือทวารหนักได้อีกด้วย 

เกิดจากเชื้อ: ไวรัส Human papilloma virus ที่มีระยะฟักตัวตั้งแต่ 3 เดือน ไปจนถึงหลายปี 

ลักษณะอาการ: สำหรับคนที่มีร่างกายแข็งแรงและภูมิต้านทานสูง เมื่อได้รับเชื้อไวรัสมักไม่แสดงอาการใดๆ ให้เห็น แต่โดยส่วนมาก HPV มักแสดงรอยโรคออกมาได้ 2 ลักษณะ คืออาการของหูดหงอนไก่ที่จะมีลักษณะติ่งเนื้อคล้ายดอกกะหล่ำปลีขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนักและง่ามขา และอาการของโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งทวารหนัก หรือมะเร็งช่องปาก

แนวทางการป้องกันและรักษา: ในปัจจุบันการฉีดวัคซีน HPV เป็นแนวทางป้องกันการติดเชื้อ HPVได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และหากติดเชื้อ HPV การรักษาการติดเชื้อ HPV จะแตกต่างกันไปตามโรคที่เกิด 

  1. เริม

เริมเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่ชื่นชอบผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และเป็นโรคที่เมื่อได้รับเชื้อมาแล้วจะใช้เวลาในการฟักตัวสักพักถึงจะแสดงอาการ เมื่อหายดีแล้วเชื้อชนิดนี้ก็มักจะแอบซ่อนอยู่ในปมประสาทใต้ผิวหนังของเรา และพร้อมแสดงอาการได้ทุกเมื่อที่ร่างกายอ่อนแอ หรือพักผ่อนน้อย

เกิดจากเชื้อ: ไวรัส Herpes simplex virus (HSV) มีระยะฟักตัวครั้งแรกประมาณ 2-20 วัน ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ HSV Type 1 ไม่ใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และ HSV Type 2 ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ลักษณะอาการ: อาการของโรคเริมที่ติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์นั้นมักเริ่มจากการมีแผลบวมแดง มีตุ่มพองใสๆ ขึ้นบริเวณที่ได้รับเชื้อ เช่น อวัยวะเพศ ง่ามขา หรือปาก ซึ่งบางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย หลังจากนั้นตุ่มพองใสจะแตก และทำให้มีอาการเจ็บ ปวดแสบปวดร้อน ก่อนจะค่อยๆ แห้งตกสะเก็ดประมาณ 2-6 สัปดาห์ บางคนอาจมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้ผิวหนังที่ติดเชื้อโตได้

แนวทางการรักษา: เริมสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสทั้งชนิดรับประทานและชนิดทา แต่หากอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาตามอาการและหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งยา โดยการรักษาความสะอาดบริเวณผิวที่เป็นตุ่มพองด้วยสำลีชุบน้ำสะอาด หรือน้ำเกลือ หากมีไข้ให้รับประทานยาพาราเซตามอล ร่วมกับพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อฟื้นฟูภูมิต้านทานให้กลับมาแข็งแรง

 

  1. ซิฟิลิส

ซิฟิลิสเป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากการติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์แล้ว ซิฟิลิสสามารถติดต่อกันได้ผ่านทางแผลเล็กๆ บนผิวหนัง โดยส่วนมากเกิดได้ที่บริเวณช่องคลอด ทวารหนัก และปาก ปัจจุบันสามารถพบโรคนี้ได้มากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย หรือในเยาวชนที่มีอายุเพียง 15-24 ปี

เกิดจากเชื้อ: แบคทีเรีย Treponema pallidum โดยมีระยะฟักตัว 1-90 วัน แต่ส่วนมากจะเฉลี่ยอยู่ที่ 21 วัน

ลักษณะอาการ: ซิฟิลิสแบ่งอาการออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 จะมีตุ่มเล็กๆ ขึ้นตามบริเวณอวัยวะเพศ ริมฝีปาก ลิ้น และหัวนม จากนั้นจะแตกเป็นแผลมีน้ำเหลืองไหล แต่ไม่มีอาการเจ็บ ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบโต ซึ่งอาการในระยะแรกนี้สามารถหายได้เองภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ แต่เชื้อของซิฟิลิสจะยังคงดำเนินต่อไป หรือหลบซ่อนตัวในร่างกายแล้ว
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่เรียกว่า “ระยะออกดอก” มักเกิดหลังจากติดเชื้อระยะแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองจะเริ่มเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้มีไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นโดยเฉพาะฝ่ามือ ฝ่าเท้า ในขณะที่บางคนอาจไม่พบอาการแสดงใดๆ 
  • ระยะที่ 3 ระยะแฝง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงใดๆ แต่เชื้อจะยังคงดำเนินอยู่ในร่างกาย สามารถตรวจพบได้ผ่านการตรวจเลือด
  • ระยะที่ 4 เชื้อเข้าไปทำลายระบบสมองและอวัยวะต่างๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เชื้อซิฟิลิสที่แฝงอยู่ในระยะนี้จะทำลายอวัยวะภายในต่างๆ ผิวหนังเป็นก้อนนูนแตกเป็นแผล ตาบอด หูหนวก สมองพิการ เส้นเลือดหัวใจโป่งพอง ซึ่งเป็นอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

แนวทางการรักษา: โรคซิฟิลิสสามารถรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง และต้องฉีดตามนัดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดยาอาจทำให้ไม่สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้

  1. หนองในแท้และหนองในเทียม

โรคหนองในถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถพบได้บ่อยเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งโรคหนองในสามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ หนองในแท้และหนองในเทียม

เกิดจากเชื้อ: หนองในทั้ง 2 ชนิด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแต่เป็นคนละชนิดกัน โดยหนองในแท้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ที่มีระยะฟักตัว 2-7 วัน ส่วนหนองในเทียมเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis โดยมีระยะฟักเชื้อเฉลี่ย 7 วัน 

ลักษณะอาการ: เชื้อแบคทีเรียโรคหนองในจะถูกแพร่เชื้อไว้ในท่อปัสสาวะในผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะพบได้ในท่อปัสสาวะและปากมดลูก ส่งผลให้มีอาการดังนี้

  • อาการของหนองในแท้ ในผู้ชายอาจมีหนองขาวขุ่นหรือเขียวไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ร่วมกับอาการเจ็บลึกๆ หรือแสบขัดขณะปัสสาวะ ในขณะที่ผู้หญิงอาจไม่มีอาการหรืออาการแสดงน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ ประจำเดือนมาผิดปกติ ท่อปัสสาวะและปากมดลูกอักเสบ มีหนองไหลออกมาจากปากมดลูก
  • อาการหนองในเทียม อาการมักคล้ายกับหนองในแท้แต่รุนแรงน้อยกว่า ในผู้ชายมักมีคราบเหลืองติดที่กางเกงใน ส่วนผู้หญิงจะมีอาการคล้ายตกขาวแต่เป็นสีเหลืองตลอดเวลา และมักจะเป็นเรื้องรัง  

แนวทางการรักษา: การรักษาโรคหนองในต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และหากยิ่งได้รับการรักษาเร็วยิ่งช่วยลดอาการแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น 

 

  1. HIV 

เอชไอวี หรือ HIV ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus เป็นเชื้อที่สามารถติดกันได้ผ่านทางสารคัดหลั่งต่างๆ  เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือน้ำนม เป็นต้น โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ (AIDS) ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเอดส์เสมอไป เพียงแต่หากติดเชื้อเอชไอวีแล้วเชื้อจะอยู่ในร่างกายตลอดไป อีกทั้งเชื้อเอชไอวีนี้สามารถติดต่อผ่านแม่สู่ลูกได้ในระหว่างการคลอด หรืออาจได้รับเชื้อจากน้ำนมแม่ด้วยเช่น 

เกิดจากเชื้อ: ไวรัส Human Immunodeficiency Virus โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อ HIV มักไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน แต่สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ 7 วันขึ้นไป ตามเทคนิคการตรวจเพาะเชื้อด้วยวิธีต่างๆ 

ลักษณะอาการ: ในระยะแรกผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อภูมิคุ้มกันลดต่ำ ร่างกายอ่อนแอ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อโรคฉวยโอกาสได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงมะเร็งชนิดต่างๆ และหากผู้ที่ติดเชื้อ HIV มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลงจนกระทั่งภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เราถึงจะเรียกผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ลักษณะนี้ว่า “ผู้ป่วยเอดส์”

แนวทางการรักษา: แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่ก็มียาต้านไวรัส ที่หากผู้ติดเชื้อได้รับประทานตั้งแต่เนิ่นๆ และมีวินัยในการรับประทานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ก็จะทำให้มีสุขภาพแข็งแรง เหมือนคนปกติทั่วไป และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไปหาผู้อื่นอีกด้วย

 

การมีเพศสัมพันธ์หรือมีเซ็กส์ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือน่าอาย ถ้าคุณเข้าใจเกี่ยวกับเพศศึกษา ร่วมกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย (Save Sex) ด้วยการสวมถุงยางอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้ง เพราะนอกจากจะช่วยลดปัญหาตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือ ท้องไม่พร้อมได้แล้ว ยังสามารถช่วยลดปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นได้อีกด้วย 

สำหรับใครที่มีความกังวลใจว่าตัวเองอาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีโอกาสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถเข้าปรึกษาแพทย์และตรวจร่างกายเพื่อประเมินหาความเสี่ยงต่อโรคได้

เรียบเรียงโดย พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต เวลา 08.00-20.00 น. 02-079-0066

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.พรรณลดา
ฉันทศาสตร์รัศมี
สูตินรีแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง