ลืมง่าย จำยาก สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

16 มิ.ย. 66  | ศูนย์สมองและระบบประสาท
แชร์บทความ      

ลืมง่าย จำยาก สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

เมื่อร่างกายเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ ความเสื่อมโทรมของอวัยวะต่างๆ เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ที่มีอาการหลงลืม หรือจำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในชีวิตไม่ได้ จนกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันให้ปกติได้ นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนรอบตัวอย่างแน่นอน เพราะส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยและคนใกล้ชิดไม่น้อย วันนี้เราจึงอยากพาคุณมาทำความรู้จักและหาวิธีป้องกันโรคอัลไซเมอร์ไปพร้อมกัน เพราะถ้าหากรู้ทันจะสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่างๆ ลงได้ ด้วยวิธีที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน 

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) คืออะไร

โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม เกิดจากการเสื่อมตัวของเซลล์สมอง ซึ่งไม่มีการสร้างขึ้นมาทดแทนใหม่ ทำให้สูญเสียความทรงจำและการเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ พบมากในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี โรคอัลไซเมอร์นี้ ถ้าหากมีประวัติญาติสายตรงเป็นโรคนี้แล้ว โอกาสที่จะถ่ายทอดทางพันธุกรรมเป็นแค่ 10-30% เท่านั้น

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) มาจากอะไร

อัลไซเมอร์เกิดได้จากการที่สมองผลิตสารชื่อว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ไม่สามารถละลายในน้ำได้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดการสะสมและเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อสารนี้ไปเกาะกับเซลล์สมองจะขัดขวางการสื่อสารระหว่างเซลล์ ทำให้เนื้อสมองฝ่อและตายไป ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำและการเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ ไป 

อัลไซเมอร์กับสมองเสื่อม ต่างกันอย่างไร ?

โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ “ไม่ใช่โรคเดียวกัน” โรคอัลไซเมอร์เป็นเพียงโรคหนึ่งในกลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อม(Dementia) ดังนั้นคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมจึงไม่ได้เกิดจากโรคอัลไซเมอร์เสมอไป

‘กลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อม’ เป็นศัพท์ที่ให้ความหมายโดยกว้างที่อธิบายโรคที่ทำให้การทำงานของการรับรู้ลดลงโดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสมาธิ ด้านการตัดสินใจและการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ และด้านการเข้าสังคม ซึ่งความผิดปกตินี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในขณะที่ ‘โรคอัลไซเมอร์’ เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดที่ส่งผลต่อความจำ กระบวนการคิด และพฤติกรรมเป็นหลัก

โรคอัลไซเมอร์มีกี่ระยะ

  1. ระยะแรก ความสามารถในการจำจะลดลงไม่มาก แต่จะชอบถามซ้ำๆ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ 
  2. ระยะกลาง ความจำแย่ลงพร้อมทั้งพฤติกรรมเปลี่ยนไป หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว โกรธง่าย 
  3. ระยะสุดท้าย เป็นระยะที่มีอาการรุนแรงขึ้น สูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาคนอื่นแม้กระทั่งเรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้ ร่างกายโดยรวมอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด 

สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

เช็กอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคอัลไซเมอร์ เพื่อหาแนวทางในการรับมืออย่างถูกต้อง คุณกำลังเสี่ยงอยู่หรือไม่มาเช็กพร้อมกัน ดังนี้ 

  1. หลงๆ ลืมๆ จำสิ่งที่เพิ่งพูดหรือทำไปไม่ได้ 
  2. รู้สึกสับสนในเวลาและสถานที่  
  3. มีปัญหาเรื่องการเลือกใช้คำพูดในการสนทนา นึกคำไม่ออก 
  4. บุคลิกภาพและอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป 
  5. ความสามารถในการตัดสินใจลดลง 
  6. จำเหตุการณ์บางอย่างไม่ได้ว่าเคยเกิดขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก

วิธีการรักษาและชะลอความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามียาที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่อาจมียาบางกลุ่มที่สามารถใช้รักษาบรรเทาอาการและการรักษาประคับประคองโรค โดยวิธีเลือกยารักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและอาการของผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาโดยไม่ใช้ยา เช่น กิจกรรมบำบัด (Occupational therapy) สามารถช่วยฟื้นฟูความจำและให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้ นอกจากนี้ยังมีอรรถบำบัด (Speech therapy) ในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพูดสื่อสาร รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตัวผู้ป่วยเอง (Lifestyle modification) ก็มีประโยชน์อย่างมากในการช่วยฟื้นฟูอาการของโรคสมองเสื่อม แม้ตอนนี้ยังไม่มียาที่ใช้ป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ แต่เราก็มีวิธีลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ดูแลสุขภาพและรักษาโรคเรื้อรังประจำตัวให้หาย ทำกิจกรรมที่ฝึกสมองอยู่เสมอ เช่น อ่านหนังสือ พูดคุยกับคนใหม่ๆ เป็นต้น 

การมีคนรอบตัวป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งและไม่ใช่เรื่องง่ายในการรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค อาการและการแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นอย่างดี พร้อมทั้งหมั่นสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยตลอดเวลา เพื่อให้การรักษาเกิดผลลัพธ์ที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตามยังมีวิธีชะลออาการเสื่อมของสมองให้ช้าลง อาทิ การฝึกสมองให้รับกลิ่นต่างๆ เล่นเกมจับผิดภาพ อ่านหนังสือแบบออกเสียง ฝึกรับรสชาติต่างๆ ให้ผู้ดูแลและผู้ป่วยทำร่วมกันเพื่อลดความเครียด และกระตุ้นการทำงานของสมองไปพร้อมกันได้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมผู้ดูแลและผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีระหว่างการรักษาโรคอีกด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ 
ศูนย์สมองและระบบประสาท ชั้น 3  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00 - 20.00 น. โทร. 0-2079-0068  

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. กฤตวิทย์ รุ่งแจ้ง อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสมองและระบบประสาท

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
รู้ทันโรคหลอดเลือดสมอง ทุกวัยเสี่ยง ทุกคนเลี่ยงได้

หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว แขนขาก็ไม่มีแรง นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ มาเช็กอาการเบื้องต้นให้ทันเวลา ก่อนเสี่ยงอัมพาตและเสียชีวิตได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ฝึกสมองให้ฟิตอยู่เสมอกับ 5 เคล็ดลับ ลับสมองให้คม

ไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม ขี้หลงขี้ลืมตั้งแต่ยังหนุ่มสาว มาฝึกสมอง ออกกำลังกายความคิด กระตุ้นให้สมองฟิต สดชื่นปลอดโปร่งกับ 5 วิธีนี้เลย

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กด่วน! ปวดหัวแบบนี้ ใช่ไมเกรนหรือไม่

ตรวจสอบสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรน และวิธีบรรเทาอาการปวดอย่างถูกต้อง พร้อมหาคำตอบว่าปวดไมเกรนต่างจากปวดหัวธรรมดาอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กอาการพาร์กินสัน อาการสั่นที่ไม่ควรมองข้าม

หากคุณมีอาการมือสั่น ตัวเกร็ง ลุกยืน หรือก้าวเดินได้ช้าและลำบากมากขึ้น รวมถึงแขนขากระตุกบ่อยๆ ตอนหลับ คุณอาจกำลังเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสันได้ มาเช็กอาการพร้อมแนวทางการรักษาได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม