นั่งไขว่ห้างบ่อยๆ ระวัง! ส่งผลร้ายต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัว

25 ก.พ. 68  | ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
แชร์บทความ      

นั่งไขว่ห้าง

หากพูดถึงท่านั่งยอดนิยมที่ใครหลายๆ คนชอบนั่ง ‘ท่าไขว่ห้าง’ คงจะติดโผเป็นอันดับแรกๆ อย่างแน่นอน ซึ่งเหตุผลที่หลายคนชอบนั่งไขว่ห้างนั้นเป็นเพราะรู้สึกสบาย หรือรู้สึกว่าเป็นท่านั่งที่ช่วยเสริมบุคลิกภาพให้ดูมั่นใจยิ่งขึ้น แต่ทราบหรือไม่ว่า การนั่งไขว่ห้างแฝงอันตรายและข้อเสียมากกว่าที่คิด ใครที่ติดนั่งไขว่ห้างจนเคยชินต้องรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนที่จะส่งผลร้ายต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัว!

ติดนั่งไขว่ห้างต้องรีบปรับ ถ้าไม่อยากเสี่ยงปวดหลังตลอดชีวิต

การนั่งไขว่ห้าง คือท่านั่งที่ต้องยกขามาไขว้ทับกัน จึงส่งผลให้สะโพกข้างหนึ่งมีการยกตัวขึ้น แต่อีกข้างกดต่ำลง และช่วงลำตัวจะมีการบิดเอี้ยว เมื่อทำซ้ำๆ บ่อยครั้งก็จะเกิดเป็นอาการปวดเมื่อยและตึงบริเวณหลัง ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นสาเหตุเริ่มต้นของโรคปวดหลังเรื้อรัง ยิ่งไปกว่านั้น การนั่งไขว่ห้างยังอาจส่งผลทำให้กระดูกสันหลังคดเมื่ออายุมากขึ้นได้ เพราะการนั่งลักษณะนี้ทำให้การลงน้ำหนักที่ก้นทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน กระดูกจึงเกิดการบิดคดเพื่อสร้างสมดุลให้ร่างกาย 

อันตรายจากการนั่งไขว่ห้าง ความเสี่ยงจากการนั่งผิดท่าที่มากกว่าที่คุณคิด

  1. เกิดอาการปวดเข่า นอกจากอาการปวดหลังหรือปวดสะโพกแล้ว การนั่งไขว่ห้างจนเคยชินก็อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าจากการลงน้ำหนักไปที่ขาและเข่าด้านหนึ่งมากกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้เกิดการบิดหมุนของข้อเข่าร่วมด้วย ซึ่งส่งผลโดยตรงกับกระดูกข้อเข่า การนั่งไขว่ห้างจึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดอาการปวดเข่าได้ง่ายกว่าปกติ
  2. เกิดอาการชาบริเวณขาหรืออาจทำให้ข้อเท้าตก การกดทับจากการนั่งผิดท่าเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อเส้นประสาทพีโรเนียล (Peroneal Nerve) ที่อยู่บริเวณด้านข้างของกระดูกข้อเข่าด้านนอก ส่งผลให้มีอาการอ่อนแรงบริเวณข้อเท้าจนยกหรือกระดกขึ้นไม่ได้ อาการข้อเท้าตกนั้นเป็นอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราว สามารถหายเองได้ แต่ทั้งนี้หากยังกลับมานั่งไขว่ห้างหรือนั่งผิดท่าซ้ำๆ อาการข้อเท้าตกอาจจะกลับมาและรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในที่สุด 
  3. เกิดอาการไหล่ห่อ การนั่งไขว่ห้างทำให้เกิดการงอและพับของข้อสะโพกมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้หลังงอจนลำตัวโน้มไปด้านหน้ามากขึ้น เกิดเป็นพฤติกรรมไหล่ห่อที่อาจส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพในระยะยาวได้
  4. หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม การนั่งผิดท่าในท่าไขว่ห้างนั้น ทำให้ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าปกติจนเป็นการเสียสมดุลตลอดเวลา ร่างกายจึงต้องถ่ายน้ำหนักไปอีกด้าน เมื่อความไม่สมดุลนี้เกิดขึ้นเป็นเวลานานก็ส่งผลให้เกิดอาการกระดูกสันหลังคด และอาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม หรืออักเสบเฉียบพลันได้ในที่สุด
  5. ภาวะความดันโลหิตสูง เวลาที่เรานั่งไขว่ห้างนานๆ เส้นเลือดใหญ่ที่อยู่บริเวณหลังเข่าก็จะถูกดทับไปด้วยจากการไขว้ขาทับกัน จึงส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ คนที่มีความดันสูงเป็นโรคประจำตัวจึงควรหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพในอนาคต

เปลี่ยนท่านั่งไขว่ห้าง เป็นท่านั่งที่ถูกต้อง ป้องกันออฟฟิศซินโดรม

ลดปัญหาสุขภาพพร้อมเสริมบุคลิกภาพให้ดีขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนท่านั่งจากการไขว่ห้างให้เป็นท่าที่ถูกต้อง ทำตามได้ง่ายๆ ดังนี้

  1. นั่งให้หลังและไหล่ตรง การนั่งให้หลังและไหล่ตรงชิดพนักพิงจะช่วยให้กระดูกสันหลังไม่เกิดภาระแบกรับน้ำหนักในท่าที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน หากนั่งเป็นเวลานานแล้วรู้สึกว่าหลังไม่ชนพนักพิง หรือไม่มีอะไรมารองรับแผ่นหลัง ก็ควรหาเบาะหรือหมอนมาหนุนเพื่อปรับหลังของเราให้ตรง
  2. ศีรษะตั้งตรง ไม่ยื่นไปด้านข้าง หรือก้มเงย ท่านั่งที่ถูกต้องและถูกหลักสรีระคือ นั่งให้ศีรษะตั้งตรงกับลำคอ โดยไม่ก้มหรือเงยหน้า เพราะการที่เราก้มหรือเงยคอเป็นเวลานาน จะทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ปวดคอ ปวดหลัง ไปจนถึงกระดูกคอเสื่อมได้
  3. แขนและมือวางนาบไปกับที่พักแขนและโต๊ะ โดยเราควรทิ้งน้ำหนักของแขนและมือให้ระนาบไปกับที่พักแขนและโต๊ะ รวมถึงข้อมือก็ควรอยู่ในระนาบเดียวกับโต๊ะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเกร็งตึงกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัวขณะทำงาน ที่อาจนำไปสู่อาการปวดเมื่อยได้
  4. นั่งบนเก้าอี้เต็มก้น ให้เท้าราบไปกับพื้น การนั่งแบบเต็มก้นทำให้น้ำหนักของศีรษะ แผ่นหลัง และกระดูกสันหลังถ่ายน้ำหนักลงมาที่ก้นและสะโพกทั้ง 2 ข้างเท่าๆ กัน พร้อมวางเท้าบนอุกปรณ์วางเท้าเพื่อกันเท้าลอย

สำหรับใครที่ติดนั่งไขว่ห้างจนเคยชินและอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สามารถเริ่มต้นง่ายๆ เพียงพยายามหลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้างทุกครั้งที่นึกขึ้นได้ และควรสลับเปลี่ยนขา เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่นั่งท่าเดิมนานๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการปวดหลัง และช่วยลดภาระให้ร่างกายทำงานหนักน้อยลง 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ชั้น 10 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 8:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0024
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.พิชชาพร เมฆินทรพันธุ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ได้เวลา Back to Office พร้อม 7 วิธีเลี่ยงอาการ Office Syndrome

ได้เวลา Back to Office พร้อม 7 วิธีเลี่ยงอาการ Office Syndrome เพราะพฤติกรรมต่างๆ ในการทำงาน อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ 

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มารู้จัก “การฟื้นฟูทางระบบประสาทและสมอง (Neuro-Rehabilitation)” กันเถอะ...

การฟื้นฟูทางระบบประสาทและสมองคือกระบวนการกระตุ้นร่างกายและสมอง โดยผ่านการฝึกกิจกรรมและการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสั่งการควบคุมการเคลื่อนไหว ความคิด ความจำและการสื่อสาร

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
9 ท่าบริหารแก้ออฟฟิศซินโดรม ลดอาการปวดคอ บ่า ไหล่

รักษาออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล่เบื้องต้นด้วยตัวเองแบบไม่ง้อหมอนวดให้เสี่ยง กับ 9 ท่าบริหารแก้ออฟฟิศซินโดรมทำเองได้ที่บ้าน ปลอดภัย จากแพทย์เฉพาะทางศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
บอกลาอาการออฟฟิศซินโดรมให้ดีขึ้นได้ด้วย 7 วิธีนี้

ปวดบ่า คอ ไหล่ จากอาการออฟฟิศซินโดรม สามารถดีขึ้นได้ด้วยทางเลือกการรักษาออฟฟิศซินโดรม 7 วิธีนี้ที่ผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์การฟื้นฟูแนะนำ

อ่านเพิ่มเติม