นิ่วในถุงน้ำดี รักษาได้ หายไว ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

03 มี.ค. 68  | ศูนย์ศัลยกรรม
แชร์บทความ      

ถุงน้ำดีสำคัญอย่างไร แล้วนิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร ?

อย่าละเลยอาการท้องอืด ปวดท้อง แน่นท้อง ปวดใต้ลิ้นปี่ ที่ดูผิวเผินอาจคล้ายกับอาการอาหารไม่ย่อย หรือโรคกระเพาะอาหาร ถึงอาการปวดจะทุเลาและหายไปในเวลาไม่นาน แต่แท้จริงแล้วนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค ‘นิ่วในถุงน้ำดี’ โดยเฉพาะสายบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง และฟาสต์ฟู้ด ที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูงยิ่งต้องรู้!

ถุงน้ำดีสำคัญอย่างไร แล้วนิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร ?

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่ช่วยย่อยตัวหนึ่ง ที่ทำหน้าที่เป็นจุดกักเก็บน้ำดีที่ถูกสร้างจากตับมาพักไว้ชั่วคราว ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ผลิตน้ำดีโดยตรง เมื่อเรารับประทานอาหารน้ำดีเหล่านี้จะถูกขับออกมาคลุกเคล้าไปพร้อมๆ กัน เพื่อย่อยไขมันที่ได้รับประทานเข้าไป ดังนั้น แม้ร่างกายไม่มีถุงน้ำดีก็ยังสามารถผลิตน้ำดีจากตับ และไหลตามท่อน้ำดีไปยังลำไส้เล็กเพื่อย่อยไขมันได้ ไม่ทำให้น้ำดีขาดหายจากร่างกายไปแต่อย่างใด เพียงแต่ความเข้มข้นของน้ำดีจะลดลง รวมถึงมีประสิทธิภาพในการย่อยไขมันได้ลดลงด้วย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ส่วนนิ่วในถุงน้ำดี หรือ Gall Stone เป็นโรคในระบบทางเดินน้ำดีที่พบได้บ่อยถึงร้อยละ 10-20 ของจำนวนประชากร มีลักษณะเป็นก้อนแข็งคล้ายกรวดอยู่ภายในถุงน้ำดี หากการทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติอาจพบอาการตั้งแต่ ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ซึ่งส่วนมากมักเข้าใจผิดว่าตนเองเป็นโรคกระเพาะอาหารและเลือกรับประทานยาด้วยตัวเอง แต่หากก้อนนิ่วไปอุดตันในท่อน้ำดีใหญ่ อาการปวดที่พบจะรุนแรงมากขึ้น อาจส่งผลให้ตับอ่อนอักเสบ ถุงน้ำดีเป็นหนอง ท่อน้ำดีติดเชื้อ ผู้ป่วยมักมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วที่มีลักษณะเป็นก้อนตะกอนแข็งในถุงน้ำดีนั้นเกิดจากส่วนประกอบทางเคมีของน้ำดีขาดสมดุล โดยเฉพาะเมื่อคอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน (สารให้สีในน้ำดี) ตกตะกอนเป็นผลึก แล้วมีหินปูนที่เกิดจากแคลเซียมมาร่วมจับตัว ทำให้เกิดเป็นก้อนนิ่วที่มีขนาดเริ่มต้นตั้งแต่เท่าเม็ดทราย ไปจนถึงขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟได้ ซึ่งปริมาณที่พบอาจมีเพียงก้อนเดียว ถึงหลายร้อยก้อนอยู่ในถุงน้ำดี โดยเราสามารถแบ่งนิ่วในถุงน้ำดีได้เป็น 3 ชนิด ดังนี้

  1. นิ่วจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol Stones) พบได้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีมากถึงร้อยละ 80 เกิดจากคอเลสเตอรอลที่เพิ่มมากขึ้นในถุงน้ำดี และตกตะกอนไขมัน ก้อนนิ่วอาจเป็นสีเหลือง ขาว เขียว 
  2. นิ่วจากเม็ดสี (Pigment Stones) เกิดจากความผิดปกติของเลือด มักพบในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด หรือผู้ป่วยโรคตับแข็ง ก้อนนิ่วชนิดนี้จึงมีขนาดเล็กและอาจเป็นสีคล้ำดำ
  3. นิ่วโคลน (Mixed Gallstones) เกิดจากการติดเชื้อใกล้ตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี นิ่วจึงมีลักษณะคล้ายโคลน ที่เหนียวและหนืด

 

ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

  • เพศและอายุ ในเพศหญิงมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า และเพิ่มขึ้นอีกเมื่ออายุ 40-60 ปี 
  • ความอ้วน ภาวะอ้วนคือสาเหตุหลักที่ทำให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีเพิ่มมากขึ้น การบีบตัวของถุงน้ำดีลดลง เกิดเป็นนิ่วที่มีคอเลสเตอรอล ยิ่งรับประทานอาหารหวานมันเป็นประจำยิ่งเสี่ยงสูง
  • พันธุกรรม หากพบว่ามีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี มีความผูกพันทางสายเลือด อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากขึ้นไปด้วย
  • ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นและมีความแปรปรวนในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หรือผ่านการตั้งครรภ์แล้ว รวมถึงการรับประทานยาคุมกำเนิดและฮอร์โมนทดแทน อาจทำให้คอเลสเตอรอลสูงจนถุงน้ำดีไม่สามารถขับออกจนหมดได้
  • การได้ยาลดไขมันในเลือดบางชนิด แม้จะทำหน้าที่ลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย แต่ขณะเดียวกันอาจเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีเช่นกัน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่ระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มีน้ำตาลในเลือดสูงมากๆ ถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยกว่าปกติ กลายเป็นน้ำดีคั่งค้างอยู่ถุงน้ำดีนั้น และเริ่มกระบวนการตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่วแทน 
  • การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเร่งสลายไขมัน ตับจึงหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น และไหลลงไปพักปนกับน้ำดีในถุง เมื่อถุงน้ำดีมีคอเสสเตอรอลลงไปปะปนจึงบีบตัวได้น้อยลง 
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และเส้นใยต่ำเป็นประจำ ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในน้ำดีสูงตาม เมื่อร่างกายย่อยสลายไม่ทันจึงทำให้เกิดนิ่วจากคอเลสเตอรอลสะสมจนสุขภาพของถุงน้ำดีแย่ลง

ชวนสังเกตอาการส่อโรคนิ่วในถุงน้ำดี มีลักษณะอาการอย่างไรบ้าง ?

อาการเมื่อมีนิ่วในถุงน้ำดีช่วงแรกอาจยังไม่แสดงออกชัดเจน หรือมีอาการแต่ไม่รุนแรงนัก แต่มักพบได้หลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายอยู่ 1-2 ชั่วโมง ก่อนจะหายไปเอง โดยสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • มีปัญหาในระบบทางเดินอาหาร แน่นท้อง ท้องอืด ท้องมีลมมาก แสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย
  • ปวดท้อง จุกแน่น บริเวณลิ้นปี่ และอาจปวดร้าวไปบริเวณสะบักด้านขวา (ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และหายไป)
  • อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย

เมื่อก้อนนิ่วในถุงน้ำดีสะสมมากขึ้น อาการที่พบจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น มีโอกาสที่ก้อนนิ่วจะหลุดไปค้างในท่อน้ำดี หรือเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันได้ทุกเวลา ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรง นอกจากอาการข้างต้นแล้วยังสามารถสังเกตอาการเพิ่มได้ดังนี้

  • ปวดท้อง จุกแน่น เช่นข้างต้นแต่ยาวนานกว่า 4 – 6 ชั่วโมง
  • ปวดท้องแบบรุนแรง จุกเสียดมากบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงด้านขวา ขยับตัวได้ยากเนื่องจากอาการปวด
  • มีภาวะดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
  • หากมีถุงน้ำดีอักเสบ อาจมีไข้ หนาวสั่น ร่วมกับอาการข้างต้น  

ปวดท้องบ่อย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ?

การตรวจวินิจฉัยโรคนิ่วในถุงน้ำดีทำได้ไม่ยาก โดยแพทย์จะให้ทำการอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน เพื่อให้เห็นรายละเอียด ขนาด และจำนวนของก้อนนิ่วภายในถุงน้ำดีได้อย่างชัดเจน ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่นานก็ทราบผลแล้ว

รักษานิ่วในถุงน้ำดีมีวิธีไหนบ้าง

รักษานิ่วในถุงน้ำดีมีวิธีไหนบ้าง 

การรักษานิ่วในถุงน้ำดีที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานที่สุดในปัจจุบันคือ การผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy) ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัย ผู้ป่วยจะมีเพียงแผลผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณหน้าท้อง ความเจ็บปวดของบาดแผลจากการผ่าตัดจะมีน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิมๆ ลดโอกาสติดเชื้อ ฟื้นตัวไว และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในเวลาไม่นาน

จัดการนิ่วในถุงน้ำดีก่อนที่นิ่วก้อนเล็กจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ 
ที่โรงพยาบาลวิมุต เราพร้อมดูแลคุณด้วยการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง
ให้คุณมั่นใจด้วยเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องที่ทันสมัย และทีมแพทย์เฉพาะทางที่มากประสบการณ์ในการผ่าตัดรักษา 
หมดกังวลเรื่องอาการปวดท้อง แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว สามารถรายละเอียดเพิ่มเติมได้ศูนย์ศัลยกรรม


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ศัลยกรรม ชั้น 4 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0040 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ.ดนัยพันธ์ อัครสกุล แพทย์ผู้ชำนาญการศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เต้านมมีปัญหาเมื่อไหร่ ... ต้องใช้ 3 ตัวช่วย (Triple Assessment)

เต้านมมีปัญหาเมื่อไหร่ ... ต้องใช้ 3 ตัวช่วย (Triple Assessment) ปัญหาคาใจที่คนส่วนใหญ่มักจะกังวลกันก็คือ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลแล้วกว่าจะได้การวินิจฉัยนั้นเราจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง?

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ยิ่งอายยิ่งไม่หาย ‘ริดสีดวง’ รู้ทันรักษาได้เร็ว

ริดสีดวง ความเจ็บปวดจากการถ่ายท้อง ที่ถ่ายยาก เบ่งนาน มีเลือดปน มีก้อนเนื้อยื่นออกมา ทำให้รู้สึกปวดทรมาน แต่รักษาหายได้ เพียงแค่รู้เท่าทันและไม่อายที่จะรักษา

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
2 วิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ ฉบับอยู่บ้านก็ทำได้

เป็นก้อนที่นม หรือจะเป็นมะเร็งเต้านมหรือเปล่า มาเช็กให้ชัวร์ว่าใช่ไหมกับวิธีตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองง่ายๆ ที่คุณเองก็สามารถทำได้แม้ตอนอาบน้ำ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) ตรงจุด แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

ทำความรู้จักเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้อง (MIS) กับผลลัพธ์ที่ให้มากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่จะเหมาะกับการรักษาโรคใดและมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไปติดตามที่บทความนี้

อ่านเพิ่มเติม