‘ไวรัสตับอักเสบบี’ ตัวการเสี่ยงก่อโรคมะเร็ง รู้ทันรักษาได้

26 มิ.ย. 67  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

ไวรัสตับอักเสบบี

‘ไวรัสตับอักเสบบี’ ตัวการเสี่ยงก่อโรคมะเร็ง รู้ทันรักษาได้

รู้หรือไม่ประมาณ 90% ของคนที่เป็นมะเร็งตับ เคยเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ! อีกทั้งในประเทศไทยยังพบความชุกของโรคไวรัสตับอักเสบบีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เกิดก่อนปี 2535 ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคชุดนี้อาจบอกได้ว่าถึงเวลาที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงภัยเงียบของโรคนี้กันอย่างจริงจัง บทความนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับโรคไวรัสตับอักเสบบีว่าคืออะไร อาการของโรคเป็นอย่างไร ติดต่อกันได้ไหม อันตรายแค่ไหน พร้อมวิธีการป้องกันที่สามารถทำได้

ไวรัสตับอักเสบบี คืออะไร ?

ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B หรือ HBV) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดบีที่ทำให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ โดยไวรัสตับอักเสบบีนี้เป็นโรคที่สามารถหายเองได้ ถ้าภูมิคุ้มกันตัวเองสามารถต่อสู้กับไวรัสได้ โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือ 10 สัปดาห์ และจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ แต่ถ้าภูมิคุ้มกันร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสได้ก็จะทำให้ตับอักเสบเรื้อรัง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตับแข็ง ตับวายและอาจกลายเป็นโรคมะเร็งตับได้ในอนาคต

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบได้ที่นี่ ไวรัสตับอักเสบ โรคติดต่อที่อาจทำให้คุณเสี่ยงถึงชีวิต

ไวรัสตับอักเสบบีติดต่อกันได้ทางไหนบ้าง ?

ทุกวันนี้หลายคนยังมีความเข้าใจผิดว่าไวรัสตับอักเสบบีสามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำร่วมกัน, ผ่านแม่ให้นมลูก, ผ่านการหายใจใกล้กัน หรือแม้กระทั่งการจูบ แต่ในความจริงแล้วการสัมผัสกันเหล่านี้ไม่สามารถส่งต่อเชื้อ หรือทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ ยกเว้นบริเวณที่สัมผัสนั้นมีแผลเปิดก็อาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้

ซึ่งเป็นเพราะว่าไวรัสตับอักเสบบีจะติดต่อกันได้ผ่านทางเลือดและสารคัดหลั่งต่างๆ เพียงเท่านั้น และโดยส่วนมากจะติดต่อกันได้ผ่านทางปัจจัยเหล่านี้

  • การคลอดลูก ในขณะที่แม่เป็นไวรัสตับอักเสบบีและคลอดลูก ลูกมีโอกาสติดเชื้อได้
  • การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย
  • การใช้เข็มร่วมกัน เช่น เข็มฉีดยา, การสัก, การเจาะหู, หรือการฝังเข็มที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
  • การใช้อุปกรณ์ของมีคมที่ปนเปื้อนเลือดร่วมกัน เช่น มีดโกน, กรรไกร หรือแปรงสีฟัน

อาการของไวรัสตับอักเสบบีมีอะไรบ้าง

โดยปกติหลังได้รับเชื้อ เชื้อจะใช้เวลาฟักตัว 2-3 เดือน และจะถูกแบ่งเป็น 2 ระยะ คือเฉียบพลันและเรื้อรัง ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วทั้ง 2 ระยะมักจะไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย แต่ทั้งนี้ในบางรายที่ตับอักเสบและทำงานได้ลดลง จะสามารถสังเกตอาการของไวรัสตับอักเสบบีได้ ดังนี้

อาการของไวรัสตับอักเสบบี

1. อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำๆ คล้ายเป็นหวัด

เนื่องจากตับมีหน้าที่คอยช่วยแปลงสารอาหารให้กลายเป็นพลังงานกับร่างกาย และเมื่อตับติดเชื้อ เกิดการอักเสบ ก็จะทำหน้าที่ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ร่างกายจึงขาดพลังงานและสารอาหาร ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรงและมีไข้ต่ำๆ ได้

2. จุกแน่นชายโครงขวา หรือแน่นท้องข้างขวา

เมื่อเกิดการติดเชื้อจะทำให้ตับเกิดการอักเสบหรือทำงานผิดปกติไป ส่งผลให้ตับบวมโต และทำให้มีอาการจุกแน่นท้องขวาหรือตรงชายโครงขวาได้

3. ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร

นอกจากแปลงสารอาหารแล้วตับยังทำหน้าที่ผลิตน้ำดี ซึ่งเป็นน้ำย่อยสำคัญในการช่วยย่อยไขมันของระบบทางเดินอาหาร เมื่อตับติดเชื้อจนผลิตน้ำดีได้น้อยลงก็จะทำให้ย่อยอาหารได้ไม่ดี เกิดอาการท้องอืดและรู้สึกมีแก๊สในกระเพาะอาหาร

4. เบื่ออาหาร

เพราะน้ำย่อยในกระเพาะน้อยลงทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ลดลง จึงทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว อีกทั้งอาการท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหารมักจะทำให้ในบางรายรู้สึกว่าเบื่ออาหารได้เช่นกัน

5. คลื่นไส้ อาเจียน

ไม่เพียงแต่การแปลงสารอาหารเท่านั้น ตับยังทำหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งกับร่างกายนั่นคือการกำจัดสารพิษ ซึ่งเมื่อตับอักเสบจนทำงานได้น้อยลง สารพิษที่ต้องถูกขับออกโดยตับก็จะสะสมไปทั่วร่างกาย และหากร่างกายสะสมพิษมากๆ กลไกตามธรรมชาติก็จะพยายามขับเอาสารพิษออก หนึ่งในนั้นคือการอาเจียน จึงทำให้คนที่เป็นไวรัสตับอักเสบบีมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนนั่นเอง

6. ปัสสาวะสีเข้ม

ในน้ำดีที่ตับได้ผลิตเอาไว้เพื่อช่วยย่อยอาหาร จะมีสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นสารที่มีสีเหลือง เมื่อตับทำงานได้ไม่ดี สารชนิดนี้จากปกติที่จะถูกขับออกไปพร้อมกับอุจจาระ ก็จะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะแทน จึงทำให้สีปัสสาวะเข้มขึ้น อาจมีสีเหลืองเข้มไปจนถึงสีน้ำตาลได้

7. ตัวเหลือง ตาเหลือง

นอกจากสารบิลิรูบินในน้ำดีที่ตับไม่สามารถขับออกไปได้ผ่านทางปัสสาวะและอุจจาระแล้วนั้น สารนี้สามารถสะสมไปตกค้างในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ ส่งผลให้ตัวเหลืองหรือตาเหลืองได้

8. คันตามผิวหนัง

อาการคันตามผิวหนัง ส่วนหนึ่งมาจากสารบิลิรูบินในน้ำดีที่ไปสะสมอยู่ตามผิวหนัง จึงทำให้เกิดอาการคันได้ รวมไปถึงการสะสมของพิษที่ตับไม่สามารถขับออกไปได้ ซึ่งก็ทำให้มีอาการคันตามผิวหนังได้เช่นกัน

ไวรัสตับอักเสบบีหายเองได้ไหม หรือรักษาหายไหม ?

ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีที่เป็นชนิดเรื้อรังมีทั้งแบบรับประทานยาและฉีดยา โดยแพทย์จะพิจารณาจากเอนไซม์ตับ ปริมาณเชื้อไวรัสและการตรวจชิ้นเนื้อตับในการประเมินระยะของโรคก่อน เพื่อมุ่งเน้นลดปริมาณและยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำลายเซลล์ตับ แต่ทั้งนี้หากติดเชื้อและร่างกายมีภูมิคุ้มกันดี จะสามารถหายได้เองภายใน 6 เดือน แถมยังทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ไม่กลับมาเป็นซ้ำในอนาคตได้

แม้ว่าโรคไวรัสตับอักเสบบีจะฟังดูน่ากลัว เพราะมีโอกาสที่จะทำให้ตับอักเสบเรื้อรังต่อยอดสู่ตับแข็งและพัฒนาไปเป็นโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งตับได้ แต่เราสามารถป้องกันให้ตัวเองห่างไกลจากเชื้อไวรัสนี้ได้ด้วยการเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ที่โรงพยาบาลวิมุตเราพร้อมดูแลสุขภาพของคุณให้ครบทุกองค์รวมกับแพ็กเกจวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิดบีในราคาพิเศษ !

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ 
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5  โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00-20.00  น. โทร. 0-2079-0054 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
พญ.สาวินี
จิริยะสิน
อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภาวะอันตรายที่คุณเสี่ยงแค่ไหน? มาเช็กกัน !

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ชวนคุณสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร เรามีข้อมูลมาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปวดท้อง ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่… ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่าย หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูกไหม เรารวมข้อมูลสาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากแล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการแบบไหนต้องระวัง รีบเช็กด่วน!

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ปวดท้องบิดเกร็ง อาจะเป็น “ลำไส้แปรปรวน” ที่ทำให้ชีวิตคุณต้องชะงัก

ปวดท้องบิดเกร็ง บริเวณตรงกลางหรือท้องน้อย เป็นๆหายๆ ถ่ายไม่ออก ท้องเสียไม่พัก อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นโรคลำไส้แปรปรวนรึเปล่า? เพราะอาการเหล่านี้มักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ชวนทุกคนมาสังเกตอาการไปพร้อมกับเรา

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง