3 อาการปอดอักเสบในเด็ก โรคอันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

02 ม.ค. 67  | ศูนย์กุมารเวช
แชร์บทความ      

3 อาการปอดอักเสบในเด็ก โรคอันตรายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

โรคปอดอักเสบ หรือปอดบวม เป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไป เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะในเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุเองก็ตาม ซึ่งสามารถสร้างความเจ็บป่วยอย่างรุนแรงต่อผู้ที่เป็นได้ อีกทั้งหากเกิดโรคปอดอักเสบในเด็ก อาจทำให้เกิดความพิการหรืออันตรายต่อชีวิตได้ รู้แบบนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า โรคปอดอักเสบในเด็กเกิดจากอะไรได้บ้าง อาการเป็นอย่างไร มาหาคำตอบพร้อมคำแนะนำในการดูแลรักษา ซึ่งเราได้รวบรวมข้อมูลมาให้แล้วที่นี่ 

โรคปอดอักเสบในเด็ก เกิดจากอะไร

โรคปอดอักเสบในเด็ก (Pneumonia) หรือโรคปวดบวมในเด็ก เป็นโรคติดต่ออันตรายที่เกิดจากการติดเชื้อทั้งจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย โดยโรคนี้มักจะพบได้บ่อยในช่วงที่มีฝนตก หรืออากาศเย็น โดยโรคนี้มาจากการที่เชื้อโรคหลุดไหลจากการกรองของจมูกเข้าสู่หลอดลม หรือถุงลมปอด จากนั้นร่างกายจะสร้างกลไกการป้องกันตัวเอง โดยให้ระบบภูมิคุ้มกัน หรือเม็ดเลือดขาวมากินเชื้อโรคที่หลุดรอดเข้ามา และหากเมื่อสมดุลระหว่างเชื้อก่อโรคและระบบภูมิคุ้มกันเสียสมดุล ก็จะทำให้เกิดการอักเสบที่บริเวณหลอดลมฝอยส่วนปลาย ถุงลมและเนื้อเยื่อรอบๆ ถุงลม หรือที่เราเรียกกันว่าปอดอักเสบนั่นเอง

ซึ่งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในเด็กได้ มีดังนี้

  • เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในเด็ก: เชื้อนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) เชื้อฮิบ (Haemophilus Influenzae Type B) หรือเชื้อไมโครพลาสม่า (Mycoplasma pneumoniae) เป็นต้น
  • เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบในเด็ก: เชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV) เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Inuenza) หรือเชื้อฮิวแมนเมตะนิวโมไวรัส (hMPV)

โดยการติดเชื้อส่วนใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กมักจะเป็นการติดเชื้อไวรัส และในเด็กบางคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความพิการแต่กำเนิด คลอดก่อนกำหนด เป็นโรคหัวใจ หรือเด็กเล็ก เด็กแรกเกิด หากเป็นโรคปอดอักเสบมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้ 

อาการของโรคปอดอักเสบในเด็ก

ปอดอักเสบในเด็กจะมีอาการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อก่อโรคและสุขภาพของตัวเด็กเองด้วย โดยโรคปอดอักเสบจะมีอาการที่สังเกตได้ ดังนี้

  1. มีไข้ และอาจหนาวสั่นได้ เนื่องจากเกิดการติดเชื้อโรค สมองส่วนไฮโปธาลามัสซึ่งเป็นส่วนควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย จะตอบสนองด้วยการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้กล้ามเนื้อและหลอดเลือดจะหดตัวลง เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแพร่กระจายออกทางผิวหนังและทางปอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการหนาวสั่นขึ้นมาได้
  2. ไอ มีเสมหะ หายใจเหนื่อยหอบ เนื่องจากการติดเชื้อทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งออกมา และตามมาด้วยอาการไอที่เป็นกลไกการกำจัดเชื้อโรค แต่ทั้งนี้โรคปอดอักเสบในเด็กอาจทำให้เด็กมีอาการเหนื่อยหอบเนื่องจากเนื้อปอดถูกทำลาย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง และอาจเกิดภาวะเสมหะอุดกั้นภายในหลอดลมได้ จึงอาจทำให้มีอาการหายใจเหนื่อยหอบตามมาได้
  3. ปีกจมูกบาน บริเวณชายโครง หรือหน้าอกบุ๋ม ในเด็กที่หายใจได้ลำบากหรือหอบเหนื่อย จะสังเกตเห็นว่าชายโครงหรือหน้าอกบุ๋มลงไป รวมถึงปีกจมูกที่บานกว่าปกติ เพราะการหายใจที่ลำบากทำให้เด็กต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยในการหายใจเพื่อนำเอาอากาศเข้าปอดมากขึ้น การใช้กล้ามเนื้อเข้ามาช่วยนี้เองที่ทำให้เกิดการดึงรั้งของกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอกขณะหายใจและทำให้สังเกตเป็นหลุมรอยบุ๋มนั่นเอง และถ้าหายใจลำบาก รับออกซิเจนได้น้อยก็อาจทำให้มีอาการตัวเขียวได้

สำหรับเด็กโตอาจสังเกตได้ว่ามีอาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจ และในเด็กเล็กบางรายอาจร้องงอแง กระสับกระส่าย ดูดนมได้ลำบาก หรือซึม อาเจียนและเบื่ออาหาร ไม่ยอมดูดนมได้

แนวทางการรักษาและดูแลโรคปอดอักเสบในเด็ก

หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัสจะไม่มียาเฉพาะในการรักษา แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ (ยกเว้นไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ที่มียาต้านไวรัส) ซึ่งหากมีไข้ก็ให้รับประทานยาลดไข้ มีเสมหะให้รับประทานยาละลายเสมหะ ใช้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีภาวะหลอดลมตีบ หรือในเด็กที่หายใจเหนื่อยมาก ตัวเขียว หายใจเร็ว ชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม อาจต้องได้รับการให้ออกซิเจน หรือหากรุนแรงมาก อาจถึงขั้นต้องใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ และในกรณีหากพบว่าปอดอักเสบเกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด

แม้ว่าโรคปอดอักเสบในเด็กจะดูน่ากลัวและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ แต่ทั้งนี้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อชีวิตได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดในช่วงที่เกิดโรคระบาด สวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่ในที่แออัด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดื่มน้ำมากๆ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเด็กที่สุขภาพไม่แข็งแรงควรเลี่ยงสถานที่ที่มีคนป่วย และที่สำคัญควรพาเด็กเข้ารับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคฮิป และวัคซีน IPD เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันโรคและลดความรุนแรงของโรค

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนที่เด็กควรฉีดได้ที่นี่ วางแผนวัคซีนพื้นฐานเพื่อลูกรัก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคร้าย

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์กุมารเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 

ให้บริการ 24 ชั่วโมง โทร. 0-2079-0038 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.สุธิดา ชินธเนศ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคระบบการหายใจในเด็ก

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ลูกของคุณเสี่ยงมีพฤติกรรมคล้าย-ออทิสติกหรือไม่?

พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทางโรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียมจะเกิดจาก "ขาดการกระตุ้น" เป็นหลัก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เตรียมลูกรักให้ Ready เมื่อเปิดเทอมนี้ Covid มาเยือน

ช่วงที่ลูกต้องเรียนออนไลน์คุณพ่อแม่ก็วุ่นวายไปอีกแบบ แต่พอลูกน้อยไปโรงเรียนในสภาวะแบบนี้ความวุ่นวายก็กลับกลายเป็นความกังวล

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ลูกนอนกรน…อาการที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ

เสียงนอนกรน เกิดจากช่องทางเดินหายใจส่วนต้นของเราตีบแคบขณะนอนหลับ ทำให้ลมหายใจไหลผ่านได้อย่างลำบาก โดยสาเหตุการนอนกรนในเด็กส่วนใหญ่ เกิดจากขนาดต่อมทอนซิลและ/หรือต่อมอะดีนอยด์ที่โต จนเบียดบังทางเดินหายใจส่วนต้นของเด็ก ซึ่งพบบ่อยในเด็กก่อนวัยเรียนจนถึงอายุประมาณ 8 ปี

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ส่องสุขภาพเด็กอ้วนที่น่ารัก กับความอันตรายที่แอบแฝง

ในเด็กอ้วนที่ดูน่ารัก อาจกำลังเป็นเด็กที่เสี่ยงกับโรคอ้วนในเด็กได้ ชวนคุณพ่อคุณแม่มาดูอันตรายแฝงที่แอบซ่อนอยู่ในเด็กอ้วน พร้อมแนวทางการรักษากันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง