ตอบให้ครบ ทุกเรื่องของ "มะเร็งปากมดลูก" ที่ผู้หญิงอยากรู้

12 ต.ค. 66  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

ตอบให้ครบ ทุกเรื่องของ "มะเร็งปากมดลูก" ที่ผู้หญิงอยากรู้

จากสถิติเมื่อปี ค.ศ. 2020 พบว่าผู้หญิงทั่วโลกกว่า 341,831 คน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก หรือในทุก 2 นาที จะมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิตอย่างน้อย 1 คน อีกทั้งมะเร็งปากมดลูกนี้ยังเป็นมะเร็งที่ถูกพบมากเป็นอันดับที่ 2 ของผู้หญิงไทย โดยมีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ย 9,000 รายต่อปีและในปัจจุบันยังพบได้ในผู้หญิงที่อายุน้อยมากขึ้นอีกด้วย จากสถิติที่น่าตกใจนี้ทำให้ผู้หญิงไทยตื่นตัวและหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเดียวในระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงที่สามารถป้องกันได้และรักษาหายได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นหรือระยะก่อนมะเร็ง วันนี้เราจึงได้รวบรวมคำถามและคำตอบเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกที่หลายคนมักสงสัยให้ครบทุกเรื่องที่คุณควรต้องรู้ไว้ให้แล้วที่นี่

8 คำถามพร้อมคำตอบของ “มะเร็งปากมดลูก” ที่ผู้หญิงหลายคนอยากรู้

1. อาการแรกเริ่มของมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างไร ?

ตอบ อาการของมะเร็งปากมดลูกที่สามารถพบเจอได้มีดังนี้

  1. พบเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
  2. มีเลือดออกผิดปกติ หรือเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน หรือมีประจำเดือนผิดปกติ 
  3. ตกขาวผิดปกติเรื้อรัง หรือตกขาวปนเลือด
  4. ปวดท้องน้อย หรือปวดบริเวณหัวหน่าว
  5. ปัสสาวะ หรือถ่ายอุจจาระผิดปกติ หรือมีเลือดปน
  6. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  7. ขาบวม ปวดหลัง ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงไตวาย (กรณีนี้มักอยู่ในระยะลุกลามรุนแรง)
  8. และในบางกรณียังไม่มีอาการ แต่ตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภายในคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

2. มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง ?

ตอบ จุดเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูกมากกว่า 90% นั้นมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสที่มีเชื่อว่า Human Papilloma Virus หรือเชื้อ HPV โดยไวรัสนี้ติดต่อผ่านมาทางการมีเพศสัมพันธ์หรือสัมผัสโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัส HPV นี้มีหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ชนิดรุนแรงที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และชนิดไม่รุนแรงที่อาจทำให้เกิดหูดหงอนไก่ 
และนอกจากนี้พบว่า 80% ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ มีโอกาสที่จะตรวจพบการติดเชื้อ HPV ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว 90% สามารถหายได้เองในเวลา 2 ปี โดยขึ้นกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่หากไม่หายและทำให้เซลล์ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงโดยไม่ตรวจติดตาม หรือรักษาต่อเนื่องก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

3. มะเร็งปากมดลูกใช้เวลาก่อตัวกี่ปี มีกี่ระยะ ? 

ตอบ หลังได้รับเชื้อ HPV โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 10-15 ปี ในการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูก และในช่วงที่ได้รับเชื้อมาแล้วก็มักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่ารับเชื้อมาตั้งแต่ตอนไหน แต่ทั้งนี้เราสามารถแบ่งระยะของมะเร็งปากมดลูกได้ดังนี้

  1. ระยะก่อนมะเร็ง เป็นระยะที่เซลล์ปากมดลูกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติ แต่ยังอยู่แค่บริเวณเยื่อบุผิวของปากมดลูก โดยเซลล์ผิดปกติจะแบ่งเป็น 3 ระดับตามความรุนแรง ซึ่งเป็นระยะที่แทบไม่มีอาการความผิดปกติใดๆ แต่จะสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจคัดกรองทางเซลล์วิทยา (Pap Smear, Thin prep) หรือร่วมกับการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เท่านั้น ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปหรือในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องรอให้มีอาการ เพราะหากตรวจเจอความผิดปกติตั้งแต่เนิ่นๆ ในระยะนี้ยังสามารถรักษาหายขาดได้
  2. ระยะมะเร็ง โดยปกติจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะ
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งอยู่แค่ที่บริเวณปากมดลูก
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งเริ่มมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก และหรือลุกลามไปยังผนังช่องคลอดส่วนบน
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังด้านข้างของปากมดลูกจนถึงกระดูกเชิงกราน และหรือผนังช่องคลอดส่วนล่าง รวมถึงกระจายไปบริเวณต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือกดท่อไตจนเกิดภาวะไตบวมน้ำ
  • มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งลุกลามอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถพบได้ที่กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรืออวัยวะอื่นๆ เช่น ปอด กระดูกและต่อมน้ำเหลืองนอกเชิงกราน เป็นต้น

4. ตกขาวผิดปกติแบบไหน ที่บ่งบอกว่าเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ?

ตอบ มะเร็งปากมดลูกมักมีตกขาวปนเลือด หรือมีตกขาวที่มีกลิ่นผิดปกติเรื้อรัง และอาจมีหนอง หรือเศษเนื้อปนออกมา หากมีอาการตกขาวดังกล่าว หรือตกขาวผิดปกติไปจากเดิม แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยได้อย่างตรงจุด 

5. วิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกมีกี่แบบ ?

ตอบ โดยปกติวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกจะมีด้วยกัน 3 วิธี

  • การตรวจแบบเซลล์วิทยา เป็นวิธีการตรวจแบบเดิมที่ทำโดยการป้ายเก็บเซลล์ที่บริเวณปากมดลูกไปตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งวิธีนี้จะไม่สามารถบอกได้ว่ามีการติดเชื้อไวรัส HPV หรือไม่แต่จะบอกได้เพียงว่ามีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติหรือเข้าสู่ระยะก่อนมะเร็งแล้วหรือยัง หากตรวจแล้วผลปกติจะแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี โดยการตรวจแบบเซลล์วิทยาจะมีด้วยกัน 2 แบบ

- ตรวจแบบ Pap smear เป็นการใช้ไม้ป้ายเซลล์บริเวณปากมดลูกและนำมาป้ายลงบนแผ่นสไลด์จะมีความแม่นยำน้อยสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่น 
- ตรวจแบบ Thin Prep เป็นวิธีการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่พัฒนามาจากการตรวจแบบแปปเสมียร์ โดยที่หัวของไม้สวอปป้ายเก็บตัวอย่างจะมีน้ำยารักษาสภาพเซลล์ที่ทำให้เก็บเซลล์ได้ครบกว่า และให้ผลไวและแม่นยำกว่าแบบแรก

  • ตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เป็นวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสที่เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อโรคมะเร็งปากมดลูกโดยตรวจหาระดับ DNA ซึ่งมีความไวและแม่นยำสูงสุด สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อเพียงอย่างเดียวโดยอาจยังไม่เกิดความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงของเซลล์ปากมดลูกเข้าสู่ระยะก่อนมะเร็งก็ได้ ซึ่งหากตรวจแล้วผลปกติจะแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี แต่หากตรวจแล้วพบความผิดปกติอาจจำเป็นต้องตรวจแบบเซลล์วิทยาเพิ่มเติม
  • ตรวจแบบเซลล์วิทยาร่วมกับตรวจหาเชื้อไวรัส HPV เป็นการตรวจแบบผสมผสานระหว่าง Thin Prep ร่วมกับการตรวจ DNA ของเชื้อ HPV ซึ่งจะทำให้สามารถค้นหาความเสี่ยงและรอยโรคแอบแฝงของมะเร็งปากมดลูกได้ชัดเจนขึ้น มีความไวและความแม่นยำสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีอื่น บอกได้ตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อจนถึงความผิดปกติระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก ซึ่งหากตรวจแล้วผลปกติจะแนะนำให้ตรวจซ้ำทุก 5 ปี 

ที่โรงพยาบาลวิมุต มีแพ็กเกจโปรแกรมตรวจสุขภาพเพื่อผู้หญิงกับแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Thin Prep และ Thin Prep + HPV DNA โดยแพทย์เฉพาะทาง ที่จะช่วยให้คุณสามารถพบเจอเชื้อได้ตั้งแต่ระยะแรก และเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ในราคาพิเศษ สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

แพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก Thin Prep

แพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก Thin Prep + HPV DNA

6. มะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม ?

ตอบ โอกาสในการหายของมะเร็งปากมดลูกขึ้นกับระยะของโรค หากตรวจพบและทำการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือระยะที่ยังไม่ลุกลามมีโอกาสรักษาให้หายได้สูง แต่หากพบในระยะที่มากขึ้นโอกาสหายก็จะลดน้อยลงมาตามลำดับ 

7. มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้อย่างไร?

ตอบ ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้มีโอกาสรับเชื้อ HPV ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การสวมถุงยางอนามัย เลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน เลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอและการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV

8. ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แค่ไหน ?

ตอบ อย่างที่ทราบกันว่า HPV คือสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV จะสามารถป้องกันมะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV หรือมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70-90% โดยเฉพาะหากฉีดตั้งแต่อายุน้อย หรือฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
และนี่ก็คือคำตอบให้กับทุกคนที่มีข้อสงสัยและความกังวลเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูกที่เราได้นำมาฝากกัน สำหรับใครที่พบว่าตัวเองมีอาการ หรือสัญญาณเตือนที่คล้ายคลึงกับข้อมูลที่ได้กล่าวไป ควรเข้าพบแพทย์และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และสำหรับใครที่มีความกังวล สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0066 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ผู้เขียน
พญ. นิชานันท์ จันทรภิรมย์ สูตินรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยานรีเวช

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง