อาหารไม่ย่อย ปัญหาหนักท้องกวนใจ

03 มี.ค. 68  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

อาหารไม่ย่อย

อาหารไม่ย่อย กลายเป็นปัญหาซ้ำซากที่ต้องเจอบ่อยๆ พาลเป็นเรื่องไม่รื่นรมย์หลังมื้ออาหารไปเสียอย่างนั้น แม้อาการเหล่านี้จะดูไม่ร้ายแรง พึ่งพายาช่วยย่อย หรือยาลดกรด ไม่นานความทรมานก็บรรเทาลงได้ แต่รู้หรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว อาการอาหารไม่ย่อยเหล่านี่ อาจเป็นสัญญาณบอกโรคและการเจ็บป่วยในระบบย่อยอาหารที่ต้องการการรักษา

อาหารไม่ย่อย คือภาวะอาการอะไร ?

อาหารไม่ย่อย (Dyspepsia) เป็นอาการที่เกิดขึ้นระหว่างหรือหลังรับประทานอาหาร มักเกิดความรู้สึกไม่สบายท้องบริเวณช่วงบน ร่วมกับท้องอืด แน่นท้อง จุกลิ้นปี่ คล้ายกับอาหารที่รับประทานเข้าไปติดขัด ไม่สบายตัว ไปจนถึงแสบร้อนกลางอก อาการมักจะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นๆ หายๆ แต่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง พบได้ในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป จะพบภาวะนี้ได้มากขึ้น เพราะระบบการย่อยอาหารเริ่มเสื่อมลงตามวัย

รู้หรือไม่ คนไทยมีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด และท้องเฟ้อกว่าร้อยละ 60 และคาดการณ์ว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยมักพบความผิดปกติอื่นๆ อีกเมื่อได้รับการตรวจเพิ่มเติม

รู้ทันอาการอาหารไม่ย่อย อาการแบบไหนถึงเรียกว่าอาหารไม่ย่อย ?

  • อาการจุก แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โดยที่อาการดังกล่าวจะต้องรุนแรงจนมีผลกระทบต่อ ชีวิตประจำวัน
  • อิ่มเร็วระหว่างมื้ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยกว่าครึ่งของมื้อปกติ อิ่มแน่นจนไม่สามารถรับประทานอาหารต่อได้ 
  • อาการปวดท้องที่ลิ้นปี่หลังรับประทานอาหาร อืดแน่นท้อง แสบร้อนท้อง รวมถึงเรอเปรี้ยว

หากเกิดภาวะอาหารไม่ย่อยอาจมีอาการอื่นที่พบได้ร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงอาการแสบร้อนที่กลางอก ที่แม้ไม่จัดเป็นอาการอาหารไม่ย่อยแต่อาจพบร่วมกันได้ และอาการเหล่านี้จะไม่หายไปหลังถ่ายอุจจาระ หรือผายลม

สาเหตุและพฤติกรรมแบบนี้… ทำอาหารไม่ย่อย
 

เช็กด่วนสาเหตุและพฤติกรรมแบบนี้… ทำอาหารไม่ย่อยได้

1. กินเร็ว เคียวไม่ละเอียดและมากเกินพอดี

พฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วยความรวดเร็ว เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด รับประทานในปริมาณที่มากเกินพอดีในแต่ละมื้อ รวมถึงหลังรับประทานอาหารแล้วนั่งเฉย ส่งผลให้อาหารย่อยช้า ค้างอยู่ในกระเพาะนานจนเกิดการหมัก และกลายเป็นแก๊สในกระเพาะอาหารซึ่งจะทำให้รู้สึกแน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้

2. อาหารมัน รสจัดเกินควรและมีแก๊สเยอะ

คุณภาพอาหารที่มีไขมันสูง เผ็ดจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด นับรวมถึง ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม มีส่วนกระตุ้นให้อาการอาหารไม่ย่อยกำเริบ เป็นการเพิ่มภาระให้ร่างกายต้องใช้เวลาย่อยอาหารนานขึ้น

3. อายุที่มากขึ้น

ด้วยวัยที่มากขึ้นระบบการย่อยอาหาร รวมถึงระบบอื่นๆ ของร่างกายจะเสื่อมถอยไปตามเวลา อาจมีอาหารค้างเหลืออยู่ในกระเพาะ จำนวนหนึ่งจากการที่กระเพาะบีบตัวน้อยลงด้วยเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกระเพาะทำงานผิดปกติโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว 

4. ไลฟ์สไตล์ทำร้ายร่างกายและโรคต่างๆ

พฤติกรรมด้านการใช้ชีวิต อาทิ น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นโรคอ้วน การตั้งครรภ์ การนอนพักผ่อนน้อย สูบบุหรี่เป็นประจำและพันธุกรรม เป็นต้น สามารถเป้นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอาหารไม่ย่อยได้

5. ความเครียด จิตใจและอารมณ์

การมีภาวะเครียด วิตกกังวล ปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ สามารถส่งผลให้กระเพาะอาหารสร้างกรดมากกว่าปกติ และหลั่งกรดที่จำเป็นต่อการย่อยอาหารออกมาได้น้อยลง

6. ยารักษาโรคบางชนิด

ผลข้างเคียงของยาบางชนิดนำไปสู่อาการอาหารไม่ย่อย ได้แก่ กลุ่มยาแก้ปวด (ยาแอสไพริน, ยาไอบูโพรเฟน และยาไดโคลฟีแนค), กลุ่มยาปฏิชีวนะที่ใช้เป็นประจำ และจำพวกยาต้านอักเสบอย่างยาสเตียรอยด์ เป็นต้น 

7. ปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่ต้องการการรักษา

ปัญหาสุขภาพอย่างแผลในกระเพาะอาหาร หรือภายในลำไส้เล็ก, ติดเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H.pylori), ภาวะท้องผูก, นิ่วในถุงน้ำดี, โรคกรดไหลย้อน, โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมีอวัยวะอย่างใดอย่างหนึ่งในระบบย่อยอาหารเกิดการอักเสบ เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ลำไส้เล็กหรือตับอ่อนอักเสบ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเอนไซม์ย่อยอาหารนั่นเอง

อาหารไม่ย่อยต้องทำอย่างไรดี

เทศกาลฉลองนี้รับมืออาการ อาหารไม่ย่อยต้องทำอย่างไรดี

  • หมั่นสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก รวมถึงเครื่องดื่มที่อาจส่อให้อาการอาหารไม่ย่อยกำเริบ 
  • ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ แล้วแบ่งออกเป็นมื้อย่อยๆ แทนตามความเหมาะสม 
  • รับประทานอาหารพอดีคำและเคี้ยวอาหารให้ละเอียด 
  • เลี่ยงมื้อดึก หลังมื้ออาหารให้ขยับร่างกายเดินเบาๆ เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น 
  • ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังอิ่มใหม่ แต่ควรเว้นระยะเวลา 2 - 3 ชั่วโมง 
  • งดเว้นการใส่กระโปรง กางเกง และเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไป 
  • แบ่งเวลาไปออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ ให้ได้ 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • จัดการกับความเครียดที่มี ด้วยการทำกิจกรรมเพิ่มความผ่อนคลายให้ตัวเอง

หากลองปรับพฤติกรรมต่างๆ แล้ว อาการอาหารไม่ย่อยกลับไม่มีท่าทีดีขึ้น ยาลดกรด มักเป็นยาชนิดแรกที่แนะนำให้ใช้บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยในเบื้องต้น อย่างไรก็ดีการรับประทานยาทุกชนิดควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรด้วย

และสุดท้ายนี้ ‘ท้องอืด’ ไม่เท่ากับ ‘อาหารไม่ย่อย’ เสมอไป หากพบอาการสุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นได้มากกว่าอาหารไม่ย่อยทั่วไป เช่น ปวด มวน แน่น แสบท้องติดต่อกันมากกว่า 4 สัปดาห์, รับประทานอาหารได้น้อยกว่าปกติมาก, อิ่มเร็วจนไม่สามารถรับประทานต่อได้, หนักลดลงมากกว่าร้อยละ 10 โดยไม่ทราบสาเหตุ, อาเจียนตลอดเวลา, อุจจาระมีเลือดปน หรือมีบุคคลในครอบครัวสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร นับเป็นสัญญาณอันตรายที่ควรรีบข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติเพิ่มเติมโดยเร็ว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต
เวลาทำการ 08:00-20:00 น. โทร. 0-2079-0054 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.สาวินี จิริยะสิน อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภาวะอันตรายที่คุณเสี่ยงแค่ไหน? มาเช็กกัน !

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ชวนคุณสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร เรามีข้อมูลมาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
“ท้องผูก” ปวดท้อง ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่… ถ่ายไม่ออก!

ถ่ายไม่ออก อุจจาระแข็ง นานๆ จะถ่าย หรือทั้งสัปดาห์ถ่ายครั้งเดียว แบบนี้เป็นโรคท้องผูกไหม เรารวมข้อมูลสาเหตุและวิธีแก้ท้องผูก สำหรับคนที่มีปัญหาการขับถ่ายมาฝากแล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการแบบไหนต้องระวัง รีบเช็กด่วน!

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ปวดท้องบิดเกร็ง อาจะเป็น “ลำไส้แปรปรวน” ที่ทำให้ชีวิตคุณต้องชะงัก

ปวดท้องบิดเกร็ง บริเวณตรงกลางหรือท้องน้อย เป็นๆหายๆ ถ่ายไม่ออก ท้องเสียไม่พัก อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นโรคลำไส้แปรปรวนรึเปล่า? เพราะอาการเหล่านี้มักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ชวนทุกคนมาสังเกตอาการไปพร้อมกับเรา

อ่านเพิ่มเติม