ฝุ่น PM 2.5 หนีไม่ได้ แต่ป้องกันและดูแลอย่างถูกต้องได้

25 มิ.ย. 67  | ศูนย์หู คอ จมูก
แชร์บทความ      

ฝุ่น PM 2.5

ฝุ่น PM 2.5 หนีไม่ได้ แต่ป้องกันและดูแลอย่างถูกต้องได้

อย่างที่ทุกคนทราบกันว่าสภาพอากาศในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่ท้องฟ้าเคยสดใส ตอนนี้ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เราเรียกกันว่า “ฝุ่น PM 2.5” โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีความหนาแน่นของฝุ่นและสารพิษในอากาศสูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสภาพแวดล้อมที่ยากต่อการแก้ไข ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง ทำให้สภาพร่างกายย่ำแย่ลง อีกทั้งหากหายใจเอาฝุ่นเข้าไปอย่างต่อเนื่องยังทำให้เกิดอาการแพ้ฝุ่น PM2.5 จนอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังตามมาได้ วันนี้เรามาดูกันว่าฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างไรบ้าง รวมถึงเรียนรู้วิธีการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นจิ๋วอันตรายนี้ไปพร้อมกัน

ฝุ่น PM 2.5 อันตรายใกล้ตัวที่คุณคาดไม่ถึง

ก่อนจะไปเล่าถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 เรามารู้จักเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้กันก่อนดีกว่า หลายคนยังสงสัยว่าทำไมถึงเรียกว่า PM 2.5 คำว่า PM ย่อมาจาก Particulate Matter เพราะเป็นฝุ่นชนิดที่มีขนาดเล็กมากและไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยมีขนาดเล็กเท่ากับ 2.5 ไมครอน เป็นขนาดเล็กมากพอที่จะสามารถเข้าไปลึกถึงถุงลมปอดได้ และอนุภาคของฝุ่นยังสามารถแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อีกด้วย ซึ่งอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นกับร่างกายนั้นมีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบสะสมจนกลายเป็นโรคเรื้อรัง หากได้รับอย่างต่อเนื่องอาจกลายเป็นโรคจมูกอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด และส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ในระยะยาวอีกด้วย

ฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อร่างกายอย่างไร

ฝุ่น PM 2.5 มีผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง

ด้วยความที่ฝุ่น PM 2.5 นั้นมีขนาดที่เล็กมากจึงสามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ทั้งระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง ดวงตา และกระแสเลือด ซึ่งเมื่อหายใจหรือสัมผัสมักจะมีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 กระทบต่อร่างกาย ดังนี้

1. ผลกระทบต่อทางเดินหายใจ

เมื่อหายใจเอาอากาศที่มีฝุ่น PM 2.5 ปริมาณสูงเข้าไป มักส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจคือ คนส่วนใหญ่มักจะมีอาการไอ จาม คัดจมูก แสบจมูก เจ็บคอ น้ำมูกลงคอ มีเสมหะในคอ เสียงแหบ คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิมมักมีอาการแย่ลง เนื่องจาก PM 2.5 จะไปเพิ่มความรุนแรงของปฏิกิริยาภูมิแพ้หลายสิบเท่า บางรายอาจนำไปสู่โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังได้ โดยเฉพาะชนิดที่มีริดสีดวงจมูก ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดอยู่เดิม มักมีอาการกำเริบบ่อยกว่าปกติ ควมคุมอาการได้ยาก และหากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่น PM 2.5 ระดับสูงเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่โรคมะเร็งปอดได้ในที่สุด

2. ผลกระทบต่อผิวหนัง

ฝุ่น PM 2.5 สัมผัสกับผิวหนังของเราตลอดเวลาที่ต้องเผชิญกับมลภาวะ ผลกระทบจากอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่มักจะเป็นอาการ “ผื่นคัน” มีผื่นขึ้นตามบริเวณใบหน้าและตามตัว เกิดได้ทั้งผู้ที่เป็นและไม่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่เดิม ในผู้ที่เป็นโรคผื่นแพ้ผิวหนังอยู่เดิมมักส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังก่อให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย จุดด่างดำ และผิวหมองคล้ำได้อีกด้วย

3. ผลกระทบต่อดวงตา

ดวงตาเป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่สัมผัสกับมลภาวะโดยตรง ผลกระทบต่อดวงตาที่อาจเกิดขึ้นจากฝุ่นมักเป็นอาการตาแดง คันตา ตาแห้ง เปลือกตาบวม มีน้ำตาไหล ใต้ตาช้ำมีสีคล้ำขึ้น หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเยื่อบุตาอักเสบ กระจกตาอักเสบได้ หากมีอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 เป็นระยะเวลานาน

4. ผลกระทบต่อระบบเส้นเลือดและหัวใจ

อีกหนึ่งผลกระทบที่สำคัญคือ หากเราอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีฝุ่น PM 2.5 เข้มข้นสูง เกินกว่า 10 - 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดการอักเสบของระบบหลอดเลือดด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการแข็งตัวของเลือดและการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดหนาตัว ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ รวมถึงทำให้คนที่เป็นโรคหัวใจอยู่เดิมมีอาการรุนแรงขึ้นอีกด้วย

วิธีรักษาเมื่อเกิดอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 ทำได้อย่างไรบ้าง?

อาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 สามารถรักษาและควบคุมอาการไม่ให้กำเริบในผู้ที่มีประวัติเป็นภูมิแพ้เดิมได้ ดังต่อไปนี้ 

  • หากคุณต้องการกำจัดฝุ่น PM2.5 ที่เกาะอยู่ในเยื่อบุจมูกออกไป สามารถใช้วิธีการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อล้างสารพิษและลดการอักเสบของเยื่อบุจมูกได้อีกด้วย
  • ในกรณีที่มีอาการโรคภูมิแพ้อากาศเดิมอยู่แล้ว และอาการรุนแรงขึ้นจากการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคจมูกและไซนัส และรักษาอย่างต่อเนื่อง

วิธีการป้องกันจากฝุ่น PM 2.5

วิธีการป้องกันตัวเองให้ไกลจากฝุ่นจิ๋วตัวร้าย PM 2.5!

ถึงแม้ฝุ่น PM 2.5 จะปกคลุมอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แต่เราก็ยังสามารถปกป้องตัวเองและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมลภาวะต่างๆ ได้ ดังนี้ 

  1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น หรือควันรถยนต์  
  2. สวมหน้ากากอยู่เสมอเมื่อต้องเผชิญกับฝุ่นหรือมลภาวะ และควรเป็นหน้ากากที่สามารถกรองอนุภาคฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ 
  3. รับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอและรับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ 
  4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมอย่างเต็มที่  
  5. ในวันที่มีค่าฝุ่นสูงไม่ควรออกมาเผชิญมลภาวะข้างนอกและควรปิดประตูหน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันฝุ่นเล็ดลอดเข้าไปในบ้าน 
  6. ใช้เครื่องฟอกอากาศที่ได้มาตรฐานในการช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 ภายในบ้าน 

คนทั่วไปที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง หากหายใจเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายทุกวันเป็นเวลานานโดยไม่มีการป้องกันที่ถูกวิธี ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงว่าอาการแพ้ฝุ่น PM 2.5 จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ หากสังเกตว่ามีความผิดปกติของร่างกาย เช่น ภูมิแพ้อากาศ มีอาการไอเรื้อรัง มีน้ำมูก หายใจไม่สะดวกหรือเหนื่อยง่าย ให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้มีการสะสมจนกลายเป็นโรคเรื้อรังได้ 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต 
เวลาทำการ 08:00 - 20:00 น. โทร. 0-2079-0050 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เวียนหัว บ้านหมุน เหมือนจะอาเจียน ใช่อาการหินปูนในหูเคลื่อนหรือไม่

โรคหินปูนในหูเคลื่อน อีกหนึ่งสาเหตุยอดฮิตของผู้ที่มักมีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน เสียการทรงตัว เช็กพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคพร้อมวิธีดูแลเมื่อเกิดอาการที่ถูกต้องได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เปลี่ยนท่านอนให้ถูกต้อง ลดปัญหาสุขภาพ หลับสบาย

การนอนท่านอนที่ถูกต้องช่วยเสริมการนอนหลับให้ดีขึ้น ช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกายและทำให้หลับลึก หลับสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เช็กท่านอนที่เหมาะสมพร้อมกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ภูมิแพ้อากาศ คันจมูก คันตา จามบ่อย มีวิธีรักษายังไงบ้าง?

ตรวจเช็กอาการภูมิแพ้อากาศต่างจากหวัดยังไง คุณกำลังมีอาการภูมิแพ้อากาศหรือไม่? สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
บ้านหมุน เวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม วิธีแก้ได้อย่างไร?

บ้านหมุน หรืออาการเวียนหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอม ทรงตัวไม่อยู่ มีสาเหตุการเกิดได้หลายปัจจัย แต่จะมีวิธีการดูแลหรือแก้ให้รู้สึกดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เรามีคำตอบ

อ่านเพิ่มเติม