5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

26 ส.ค. 65  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

โรคหัวใจ

5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ใจสั่น วูบบ่อย อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหัวใจ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าโรคหัวใจสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละโรคมีสาเหตุเกิดจากอะไร ลักษณะอาการเฉพาะและความผิดปกติที่สังเกตได้เป็นอย่างไร รวมถึงจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาให้

โรคหัวใจ คืออะไร ?

โรคหัวใจ (Heart Disease) สามารถแบ่งย่อยได้เป็นหลายกลุ่มโรค เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงหรือหนาตัวผิดปกติทางพันธุกรรม โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดช้าหรือเร็ว โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และโรคติดเชื้อบริเวณเยื่อบุหรือลิ้นหัวใจ เป็นต้น ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอัตราการเสียชีวิตสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 54,530 คน เฉลี่ยเสียชีวิตวันละ 150 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน

ประเภทของโรคหัวใจ เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร ?


โรคหลอดเลือดหัวใจ

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากผนังหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพ หรือหนาตัวขึ้นจากการอุดตันของไขมัน หินปูนและเนื้อเยื่อที่เกิดจากการอักเสบในหลอดเลือด  เป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบมากขึ้น ขัดขวางการไหลเวียนเลือดไปสู่หัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงหกล้ามเนื้อหัวใจลดน้อยลงและไม่เพียงพอ จนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ ผู้ที่มีอายุมาก สูบบุหรี่จัด มีภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และขาดการออกกำลังกาย มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สูงขึ้น 

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เหนื่อยง่าย จุก แน่น เจ็บแน่นหน้าอก โดยมักเป็นขณะออกแรง เสียดหรือแสบร้อนในบริเวณทรวงอก เหงื่อออก ใจสั่น เป็นลม อาจเป็นแบบฉับพลันและรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือหัวใจวายได้ 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ได้ที่นี่

2. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สาเหตุภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากการกำเนิดกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติบางตำแหน่งในหัวใจ หรือมีจุดที่ไฟฟ้าลัดวงจรเล็กๆ โดยสาเหตุมีทั้งจากความเสื่อมสภาพของโครงสร้างที่นำไฟฟ้าในหัวใจในผู้สูงอายุเอง ทำให้หัวใจเต้นช้าลง หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนำไฟฟ้าบางอย่างทำให้เกิดไฟไฟ้าลัดวงจรในหัวใจ โรคบางชนิด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง เบาหวาน และต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ภาวะกรรมพันธุ์

อาการภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นช้ามากแบบผิดปกติ อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 40 ครั้ง/นาที ในขณะพักและตื่นนอน หรือเต้นเร็วผิดปกติจะรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำและอาจเป็นลมหมดสติ และขณะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 120 ครั้ง/นาทีแบบผิดจังหวะ หากเป็นเพียงเล็กน้อยจะเหนื่อยง่ายและหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากมีอาการวูบ เป็นลม หมดสติ มีอาการใจสั่นอย่างรุนแรงหรือเหนื่อยมากควรพบแพทย์โดยเร็ว 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคที่คนเจ็บหน้าอก ใจสั่นต้องคอยระวัง ได้ที่นี่

3. โรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว

สาเหตุโรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว เป็นได้ตั้งแต่ลิ้นหัวใจพิการแต่กำเนิด จากโรคลิ้นหัวใจอักเสบรูห์มาติค ติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ หรือหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจจนลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว

อาการโรคลิ้นหัวใจตีบและรั่ว เหนื่อยง่ายกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอกเวลาออกแรง คล้ายกับผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ มีขาบวมทั้ง 2 ข้าง นอนราบไม่ได้ ต้องนอนศีรษะสูง มีท้องอืดบวม หรือมีวูบหน้ามืดหมดสติ จากลิ้นหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ลิ้นหัวใจรั่ว เหนื่อยหอบง่าย รักษาหายเป็นปกติได้ ได้ที่นี่

4. โรคหัวใจล้มเหลว

สาเหตุโรคหัวใจล้มเหลว มีทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง โดยสาเหตุเฉียบพลันมักเกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน มีหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรง ส่วนกรณีแบบเรื้อรังนั้น เป็นได้จากเส้นเลือดหัวใจตีบเรื้อรัง โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วที่ไม่ได้รับการรักษา การได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิด เช่น ดื่มสุราต่อเนื่องในปริมาณมาก หรือยาเคมีบำบัดบางชนิด เป็นต้น

อาการโรคหัวใจล้มเหลว เหนื่อยง่ายตอนออกแรง ขาบวม นอนราบไม่ได้ มีตื่นมาหอบเหนื่อยตอนกลางคืน อาจตรวจพบหัวใจโตและน้ำท่วมปอดร่วมด้วย

โรคหัวใจเกิดจากอะไร

5. โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

สาเหตุโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด อาจมีสาเหตุมาจากทางพันธุกรรมร่วมกับสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ความผิดปกติได้ตั้งแต่ขณะอยู่ในครรภ์มารดา โดยการตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) โดยสูติแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารก ซึ่งความผิดปกตินี้เกิดจากการเจริญเติบโตของหัวใจขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเกิดจากการมีรูรั่วที่ผนังกั้นภายในห้องหัวใจ ลิ้นหัวใจตีบตันหรือรั่ว เป็นต้น 

อาการโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ในเด็กเล็ก อาการที่สำคัญ คือ เหงื่อออกมากบริเวณศีรษะโดยอากาศไม่ร้อน ดูดนมนานกว่าปกติ ตัวเล็ก เลี้ยงไม่โต น้ำหนักไม่ค่อยขึ้น เด็กโตมักมีอาการเหมือนผู้ใหญ่ เช่น หายใจหอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย หรือต้องนอนศีรษะสูง เขียวบริเวณเยื่อบุบริเวณริมฝีปาก ลิ้น เยื่อบุตาหรือใต้เล็บ ใจสั่น เจ็บหน้าอก จะเป็นลม

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจ ?

วิธีที่จะรู้ได้อย่างแน่นอนว่าตัวเราเป็นโรคหัวใจหรือไม่นั้น จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยโรคด้วยการตรวจหัวใจโดยมีหลายวิธี ดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติ อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่น่าสงสัย รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ 
  • ตรวจทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยการคลำชีพจรและจังหวะการเต้นของหัวใจ ฟังเสียงหัวใจ วัดความดันโลหิต 
  • ตรวจด้วยการเอกซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)  การตรวจเอกซ์เรย์ทรวงอกจะทำให้เห็นเงาขนาดของหัวใจอย่างคร่าวๆ และเนื้อปอดเพื่อดูว่ามีลักษณะของน้ำท่วมปอดที่เป็นเหตุจากหัวใจหรือไม่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะเป็นการดูอัตราการเต้นหัวใจ และลักษณะคลื่นสัญญานไฟฟ้าที่ออกจากหัวใจ ว่ามีความผิดปกติของสัญญานไฟฟ้าหัวใจหรือไม่
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST) เป็นการทดสอบสมรรถภาพของร่างกายและหัวใจ โดยการให้ผู้ป่วยเดินเร็วหรือวิ่งบนสายพานเพื่อกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น โดยระหว่างการตรวจแพทย์จะทำการสังเกตอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก และสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจผู้ป่วยขณะออกกำลังกาย ซึ่งสามารถพบความผิดปกติในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดได้   
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) เป็นการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อดูโครงสร้างของหัวใจ ความหนาของผนังหัวใจ ความสามารในการบีบตัวและการคลายตัวของหัวใจ ความดันโลหิตในห้องหัวใจ และตรวจดูการทำงานของลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ 
  • ตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CTA coronary) เป็นการตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เส้นเลือดหัวใจโดยการฉีดสารทึบรังสีผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อวิเคราะห์หาเส้นเลือดที่ตีบตันจากการมีไขมันไปเกาะหลอดเลือดแดง รวมถึงปริมาณหินปูนหรือแคลเซียมในเส้นเลือดหัวใจ เพื่อใช้ในการทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาวอีกด้วย   
  • การตรวจหัวใจด้วยภาพคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก หรือ Cardiac MRI เป็นการตรวจหัวใจและหลอดเลือดวิธีใหม่อีกวิธีหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยี MRI จะทำให้เห็นโครงสร้างหัวใจได้ชัดเจน เห็นลักษณะการทำงาน และสามารถวัดปริมาณเลือดที่วิ่งไหลผ่านหัวใจห้องต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการตรวจโดยฉีดสารกระตุ้นเพื่อทำการทดสอบและตรวจดูเส้นเลือดหัวใจตีบ และมีการฉีดสารชนิดพิเศษเพิ่มเติมเพื่อดูรอยแผลเป็นในห้องหัวใจได้  
  • ตรวจฉีดสีเพื่อดูเส้นเลือดหัวใจ หรือที่เรียกว่าการสวนหลอดเลือดหัวใจ แพทย์จะใช้สายสวนขนาดเล็กใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดงจากบริเวณข้อมือ ขาหนีบ หรือข้อพับแขนไปจนถึงจุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือดโคโรนารีที่ไปเลี้ยงหัวใจทั้งห้องซ้ายและขวา แล้วจะใช้สารทึบรังสีเอกซเรย์ฉีดเข้าทางสายสวนนั้นไปที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อตรวจดูว่ามีการตีบแคบหรือตันของหลอดเลือดหรือไม่ รุนแรงมากน้อยขนาดไหน และที่ตำแหน่งใดบ้าง โดยหากพบว่ามีเส้นเลือดหัวใจตีบมาก แพทย์สามารถทำการใส่บอลลูนและขดลวดเพื่อขยายหลอดเลือดหัวใจตีบได้เลยในหัตถการเดียวกัน

รักษาโรคหัวใจ

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือดโรงพยาบาลวิมุต เรามีแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจกับโปรแกรมดูแลสมรรถภาพหัวใจสำหรับผู้รักการออกกำลังกาย โปรแกรมตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) และโปรแกรมตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echo)ที่เหมาะสำหรับผู้ต้องการดูแลและคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยภายในโปรแกรมมีการตรวจที่หลากหลาย เช่น การตรวจร่างกายโดยแพทย์เฉพาะทาง ตรวจวัดระดับออกซิเจน ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ไขมันคอเรสเตอรอลในเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และแปลผลโดยแพทย์เฉพาะทาง ในราคาพิเศษ

ที่ศูนย์หัวใจและหลอดเลือดโรงพยาบาลวิมุต เรามีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ และทีมสหสาขาที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมเครื่องมือที่ครบครันและทันสมัยในการตรวจหาความเสี่ยง และวินิจฉัยความผิดปกติของหัวใจได้อย่างแม่นยำ เพื่อให้คุณได้รับการรักษาได้อย่างเหมาะสม และรู้ถึงปัญหาได้อย่างตรงจุด

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลา 08.00-17.00 น. หรือ โทร. 0-2079-0060 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อาการเตือน เจ็บอกรุนแรง..อาจเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เจ็บกลางอก ใจสั่น เวียนหัว หายใจหอบ สัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือ เส้นเลือดหัวใจตีบ” มาสังเกตอาการพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กให้ชัวร์ เจ็บหน้าอกข้างซ้ายแบบนี้ เป็นโรคอะไรกันแน่

เปิดลิสต์เจ็บหน้าอกข้างซ้าย ที่อาจไม่ได้หมายถึงโรคหัวใจเสมอไป มาเช็กอาการให้ละเอียดกันว่าจริงๆ แล้วที่เจ็บอกข้างซ้ายอยู่นั้น เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง