รู้ทันอาการ “เจ็บคอ” เจ็บแบบไหนหายเองได้ แบบไหนต้องระวัง !

28 ธ.ค. 66  | ศูนย์หู คอ จมูก
แชร์บทความ      

รู้ทันอาการ “เจ็บคอ” เจ็บแบบไหนหายเองได้ แบบไหนต้องระวัง !

รู้สึกระคายคอ กระแอมทั้งวัน จิบน้ำบ่อยๆ ก็ยังไม่หายเจ็บคอ คันคอสักที แถมเวลาจะกลืนน้ำลายหรือดื่มน้ำแต่ละครั้งก็ลำบากมากขึ้น ซึ่งหลายคนจะรู้ได้เลยว่านี่เป็นอาการเริ่มต้นที่ส่งสัญญาณเตือนว่ากำลังจะไม่สบายแน่นอน หากแต่อาการเจ็บคอนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ซึ่งบางสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อ ในขณะที่เชื้อบางชนิดไม่จำเป็นต้องกินยาฆ่าเชื้อ แต่หากเข้าใจผิดและซื้อยากินเองอาจเสี่ยงดื้อยาในอนาคตได้ วันนี้เราจะมาตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่อง “เจ็บคอ” ที่คุณควรรู้

ตอบคำถามให้ครบกับทุกเรื่องของอาการ “เจ็บคอ”

1. เจ็บคอ คืออะไร?

อาการเจ็บคอ (Sore Throat) เป็นความเจ็บป่วยของบริเวณเนื้อเยื่อในลำคอ ต่อมทอนซิล กล่องเสียงและส่วนอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บ คัน หรือระคายเคืองภายในลำคอ และมักมีอาการมากขึ้นขณะกลืน รวมถึงอาจทำให้ไอและเสียงเปลี่ยนไปได้เช่นกัน

2. สาเหตุของการเจ็บคอเกิดจากอะไรได้บ้าง?

สาเหตุของอาการเจ็บคอสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  • เจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่จะพบว่ามาจากเชื้อไวรัส ซึ่งการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสจะสามารถหายได้เองภายใน 3-7 วัน โดยไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ ซึ่งแตกต่างจากการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะมีอาการนานกว่า และต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งต่อเนื่องจนหมด
  • เจ็บคอที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โรคบางโรคสามารถทำให้เกิดอาการเจ็บคอหรือคออักเสบได้ เช่น ไซนัส ภูมิแพ้ กรดไหลย้อน รวมไปถึงพฤติกรรมบางอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดอาการเจ็บคอ เคืองคอได้ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบรับประทานอาหารทอดๆ มันๆ หรืออาหารรสจัด เป็นต้น

3. อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสและติดเชื้อแบคทีเรีย มีอาการแตกต่างกันอย่างไร

เจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส

เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

มักมีอาการเหมือนกับไข้หวัด มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล เสียงแหบ เจ็บคอมีความรุนแรงน้อย - ปานกลาง คอและทอนซิลบวมแดง แต่สิ่งสำคัญคือไม่มีจุดหนอง มักมีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว

มีไข้ คัดจมูกและปวดตึงใบหน้า แต่มักไม่มีอาการไอ ลิ้นเป็นฝ้า คอแดง ลิ้นไก่และทอนซิลบวมแดง มีจุดหนองซึ่งเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดในการสังเกตว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรบวมโต กดแล้วเจ็บ 

4. วิธีรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องกินยาอะไรและดูแลตัวเองอย่างไร

หากมีอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิฉัย หรือปรึกษาเภสัชกร เพื่อรับยาปฏชีวนะ โดยจะต้องรับประทานยาต่อเนื่องจนหมด เพื่อประสิทธิภาพของตัวยาและลดโอกาสการดื้อยา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำ รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายเพิ่มและป้องกันการแพร่กระจายของโรค 

5. วิธีรักษาอาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ต้องกินยาอะไรและดูแลตัวเองอย่างไร

สำหรับอาการเจ็บคอที่มาจากการติดเชื้อไวรัส ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ แต่สามารถรับประทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาตามอาการที่เป็นได้ รวมถึงดูแลตัวเองด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องมากๆ สามารถกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน และที่สำคัญควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกายเพิ่มและป้องกันการแพร่กระจายของโรค  

6. อาการเจ็บคอแบบนี้เป็นโรคอะไรได้บ้าง

  • อาการเจ็บคอ คอแดง แต่ไม่มีจุดขาวหรือหนองที่ทอนซิล มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เมื่อยตัว อาจเป็นอาการของการติดเชื้อจากไวรัส เช่น โรคไข้หวัดทั่วไป โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 โรคโมโนนิวคลิโอสิส โรคหัด โรคอีสุกอีใส หรือโรคเริม เป็นต้น
  • อาการเจ็บคอ คอแดง มีจุดขาวหรือหนองที่ทอนซิล มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโต อาการเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคไข้หวัดทั่วไป ต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น
  • มีอาการเจ็บคอ เคืองคอทุกวันตอนเช้า แต่ช่วงสายๆ อาการจะทุเลาลง เหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน ซึ่งกรดจะไหลย้อนขึ้นมาในตอนกลางคืนขณะที่ร่างกายอยู่ในท่านอนราบ ทำให้รู้สึกเคือง ระคายคอ บางคนอาจมีเสียงแหบ เสียงเปลี่ยนไปได้
  • อาการเจ็บคอ คอแดง รู้สึกเหมือนมีน้ำมูกไหลลงคอ หายใจทางจมูกลำบาก ต้องอ้าปากหายใจแทน อาจเกิดจากการแพ้อาการหรือโรคเกี่ยวกับจมูก เช่น โรคภูมิแพ้อากาศ แพ้เกสรดอกไม้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
  • เจ็บคอ ระคายเคืองคอ กลืนน้ำลายลำบากขึ้น ไม่มีไข้ อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่อาจมาจากการรับประทานอาหารทอดๆ มันๆ อาหารรสจัด สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นควันหรือสารเคมีเยอะ รวมถึงการใช้เสียงผิดวิธีทั้งการพูดเสียงดัง ตะโกน หรือพูดเป็นเวลานานๆ ได้ 
  • เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก มักมีเสมหะอยู่ในลำคอและระคายคอตลอดเวลา อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากโรคเนื้องอกในลำคอและกล่องเสียงได้
  • เจ็บคอเรื้อรังเป็นๆ หายๆ เวลากลืน หาว เคี้ยว หรือไอ มักร้าวไปยังหู คอและศีรษะหลายวินาที เป็นอาการของโรคของเส้นประสาทที่อยู่บริเวณคอ ซึ่งอาการดังกล่าวมาจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ถูกกระตุ้น หรือเกิดการระคายเคือง ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอและอาการข้างเคียงดังกล่าวได้

7. เจ็บคอควรกินอะไรดี และไม่ควรกิน หรือห้ามกินอะไรบ้าง

  • เลือกกินอาหารรสอ่อน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
  • ไม่ควรดื่มน้ำเย็น แต่ให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องเยอะๆ แทน แต่ถ้าเจ็บคอที่เกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบ สามารถดื่มน้ำเย็นหรือกินไอศครีมได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองได้
  • ซุปไก่ ในซุปไก่นั้นอุดมไปด้วยโซเดียม ซึ่งมีส่วนช่วยลดการอักเสบ
  • ชาเขียวอุ่น หรือน้ำขิง นอกจากเป็นเมนูแก้เบื่อจากการจิบน้ำเปล่าธรรมดาได้ดีแล้ว ยังมีส่วนช่วยรักษาการติดเชื้อ ลดอาการเจ็บคอได้อีกด้วย
  • โกโก้ ดาร์กช็อกโกแลต มีสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยลดอาการอักเสบของร่างกายได้

8. เจ็บคอ หรือคออักเสบแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์

  • เจ็บคอมาก คอแดง ร่วมกับมีไข้
  • เจ็บคอ ร่วมกับหายใจและกลืนลำบาก 
  • เจ็บคอและมีอาการปวดหู ปวดศีรษะ
  • เจ็บคอ เสียงแหบ มีเลือดปนเสมหะ หรือน้ำลาย

ทั้งนี้ หากมีอาการเจ็บคอนานกว่า 2 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วยังไม่หาย หายใจลำบาก กลืนไม่ได้จนน้ำลายไหล ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการบ่งชี้โรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงโรคไข้หวัดทั่วไป

จะเห็นได้ว่าอาการเจ็บคอสามารถบ่งชี้โรคได้อีกมากมาย ดังนั้น หากมีอาการเจ็บคอมากผิดปกติ และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรก่อนการรับประทานยาทุกครั้ง เพราะการรับประทานยาในกณีที่ไม่จำเป็นอาจทำให้ร่างกายทำงานหนักขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสดื้อยาในอนาคตได้ 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์หู คอ จมูก ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0050 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางหู คอ จมูก

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ผศ.พญ.กวินญรัตน์
จิตรอรุณฑ์
โสต ศอ นาสิก (Otolaryngology)
นาสิกวิทยาและโรคภูมิแพ้

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
เวียนหัว บ้านหมุน เหมือนจะอาเจียน ใช่อาการหินปูนในหูเคลื่อนหรือไม่

โรคหินปูนในหูเคลื่อน อีกหนึ่งสาเหตุยอดฮิตของผู้ที่มักมีอาการวิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน เสียการทรงตัว เช็กพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคพร้อมวิธีดูแลเมื่อเกิดอาการที่ถูกต้องได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เปลี่ยนท่านอนให้ถูกต้อง ลดปัญหาสุขภาพ หลับสบาย

การนอนท่านอนที่ถูกต้องช่วยเสริมการนอนหลับให้ดีขึ้น ช่วยลดความเจ็บปวดของร่างกายและทำให้หลับลึก หลับสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เช็กท่านอนที่เหมาะสมพร้อมกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ภูมิแพ้อากาศ คันจมูก คันตา จามบ่อย มีวิธีรักษายังไงบ้าง?

ตรวจเช็กอาการภูมิแพ้อากาศต่างจากหวัดยังไง คุณกำลังมีอาการภูมิแพ้อากาศหรือไม่? สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดอาการมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบไปพร้อมกันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ค้นคำตอบ อาการบ้านหมุน เวียนหัว คลื่นไส้ เกิดจากอะไรกันนะ?

หากคุณกำลังมีอาการเวียนหัว สิ่งต่างๆ หมุนรอบตัว พะอืดพะอม คลื่นไส้ คุณอาจกำลังเผชิญกับอาการบ้านหมุน แต่ไม่ต้องกังวลเรามีวิธีดูแลตัวเอง วิธีรักษาอาการบ้านหมุน รวมถึงสาเหตุเกิดจากอะไรมาให้ทุกคนได้คลายกังวลแล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม