แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย สัญญาณอันตรายของ “ภาวะหัวใจล้มเหลว”

30 ต.ค. 66  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย สัญญาณอันตรายของ “ภาวะหัวใจล้มเหลว”

“ภาวะหัวใจล้มเหลว” เป็นหนึ่งในภาวะของโรคหัวใจที่อันตรายจนอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งหลายคนชะล่าใจ คิดว่าภาวะหัวใจล้มเหลวนี้จะเกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ความจริงแล้วต่อให้เป็นคนหนุ่มสาว วัยรุ่น หรือวัยทำงาน ก็มีโอกาสตรวจพบภาวะนี้ได้เหมือนกัน เพื่อให้คุณปลอดภัยจากภาวะหัวใจล้มเหลว วันนี้เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักและเข้าใจอาการของโรคให้มากขึ้น เพื่อนำไปสังเกตตัวเองและคนใกล้ชิดในเบื้องต้น 

“ภาวะหัวใจล้มเหลว” (Heart Failure) หรือหัวใจวายเกิดจากสาเหตุใดบ้าง?

ภาวะหัวใจล้มเหลวเกิดจากความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ เป็นภาวะที่หัวใจมีความอ่อนแรงไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายและรับเลือดกลับเข้าสู่หัวใจได้ตามปกติ และยังเป็นภาวะสุดท้ายของโรคหัวใจทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาหรือบางผิดปกติ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะเรื้อรัง โรคหัวใจพิการแต่กําเนิด เป็นต้น ซึ่งสาเหตุหลักมักเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่ใส่ใจดูแลร่างกาย มีโรคร่วมที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือรักษาอย่างต่อเนื่อง และภาวะหัวใจล้มเหลวนี้ ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่กลุ่มคนวัยทำงานอายุน้อย ไปจนถึงผู้สูงอายุ

ชนิดของภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

ภาวะหัวใจล้มเหลวสามารถแบ่งได้หลายชนิด เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เราสามารถแบ่งภาวะหัวใจล้มเหลวออกเป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาที่มีอาการ ได้แก่ 

  1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) เกิดจากปัจจัยที่มากระตุ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน การติดเชื้อที่ลิ้นหรือกล้ามเนื้อหัวใจ อาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทันทีทันใด และอาการจะแย่ลงเรื่อยๆ ในเวลาไม่นาน เช่น เจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยหอบแบบเฉียบพลัน นอนราบไม่ได้ ร่วมกับอาจมีหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ภาวะช๊อค ไปจนถึงเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
  2. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง (Chronic Heart Failure) เป็นความผิดปกติของหัวใจที่เกิดขึ้น จากปัจจัยที่มากระตุ้นหรือส่งเสริมแบบต่อเนื่องในเวลานาน เช่น โรคหัวใจตีบเรื้อรัง โรคลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น เหนื่อยง่ายหรือเจ็บหน้าอก เวลาออกแรงน้อยๆ หรือออกกำลัง ขาบวมมากขึ้น เหนื่อยเวลานอนราบนานๆ ต้องลุกขึ้นมานั่ง จึงจะหายเหนื่อยและหลับได้ 

สัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลวที่สามารถสังเกตได้เบื้องต้น

ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว จึงควรสังเกตตัวเองและเฝ้าระวังความเสี่ยงหากเกิดความผิดปกติ ดังนี้ 

  • เหนื่อยง่าย เมื่อออกแรงหรือออกกำลัง อาจมีอาการไอร่วมด้วยได้
  • หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือหายใจเหนื่อยหอบขณะนอนราบ และอาการอาจดีขึ้นเมื่อลุกขึ้นนั่งสักพัก
  • ตื่นขึ้นมากลางดึก เพราะเหนื่อยและหายใจไม่สะดวก ต้องหลับในท่านั่งหรือหนุนหมอนให้ศีรษะสูงขึ้น
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จากการคั่งของน้ำ แต่ไม่ใช่เพราะรับประทานอาหารได้มากขึ้น 
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย หน้าแข้งหรือข้อเท้าบวม 
  • อืดแน่นในท้องเหมือนมีน้ำในท้อง

วิธีการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวทำได้อย่างไร?

ภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นอาการกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ ทั้งในแง่บีบตัวหรือคลายตัว การรักษาสภาพหัวใจให้กลับมาทำงานได้ตามปกตินั้น ช่วงแรกจำเป็นต้องขับเอาน้ำและเกลือส่วนเกิน ในร่างกายออกก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงเริ่มให้ยาเพื่อชะลอ หรือหยุดยั้งการกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ และฮอร์โมนที่มีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ และลดการสร้างผังฝืดในห้องหัวใจ และสุดท้าย ต้องหาต้นเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวว่ามาจากสาเหตุจำเพาะใด เพื่อแก้ไขได้ตรงจุด และป้องกันไม่ให้มีอาการหรือกลับมาเป็นซ้ำอีก

ทั้งนี้ หากสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันมากๆ หรือลิ้นหัวใจตีบหรือรั่วรุนแรง จนไม่สามารถควบคุมรักษาด้วยการใช้ยาได้แล้ว ก็จำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ การทำบอลลูนและใส่ขดลวดค้ำยัน เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาใด ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นๆ และความเหมาะสมในผุ้ป่วยแต่ละรายเป็นสำคัญ 

ภาวะหัวใจล้มเหลวมีแนวทางป้องกันอย่างไรบ้าง?

หากคุณเป็นหนึ่งคนที่ไม่อยากป่วยเป็นโรคหัวใจก่อนวัยอันควร พฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องเลี่ยงก่อนที่ภาวะหัวใจล้มเหลวจะมาเยือนมีดังต่อไปนี้… 

  1. ถึงแม้คุณจะมีสุขภาพดี ก็ควรตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย
  2. ผู้ที่มีโรคประตัวเดิม เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหมั่นพบแพทย์ตามนัดและรับประทานยาสม่ำเสมอ รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อใหควบคุมโรคได้ดี
  3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย งดอาหารรสเค็มหรือรสจัด และอาหารที่มีโซเดียมสูง ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง
  4. ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตในด้านต่างๆ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายทั้งแบบแอโรบิคและเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ทั้งแบบปกติหรือบุหรี่ไฟฟ้า

“ภาวะหัวใจล้มเหลว” เป็นหนึ่งในภาวะของโรคหัวใจที่อันตรายจนอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลันได้ หากมีอาการผิดปกติ หรือมีความเสี่ยงควรป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจและรักษาได้อย่างทันท่วงที อย่ารอเวลาให้ปัญหาหัวใจส่งสัญญาณเตือนถึงคุณ เริ่มต้นดูแลสุขภาพหัวใจตัวเองตั้งแต่วันนี้… เพื่อลดความเสี่ยงและปลอดภัยจากภาวะหัวใจล้มเหลว 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ 

ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ชั้น 6  โรงพยาบาลวิมุต 

เวลา 08.00-17.00 น. หรือ โทร. 0-2079-0060 

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. ศรันย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

อาการแน่นหน้าอก เจ็บหัวใจ เหนื่อยง่าย อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งโรคหัวใจต่างก็ถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายโรคและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เจ็บหน้าอก ใจสั่น อย่าวางใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ” ได้ มาสังเกตอาการพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง