ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

10 ม.ค. 66  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

โรคหลอดเลือดตีบเกิดจาก

ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

หัวใจที่เต้นตึกตักแบบไม่เคยหยุดพักในทุกวัน อาจซ่อนความอันตรายให้คุณเสี่ยงตายจาก ‘โรคเส้นเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจตีบ’ ได้แบบไม่ทันตั้งตัว เพราะอาหารการกินที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง ร่วมกับไลฟ์สไตล์ที่ห่างไกลการออกกำลังกาย และเต็มไปด้วยความเครียด ส่งผลให้แต่ละปีจึงมีประชากรประมาณ 17 ล้านคนจากทั่วโลก เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเหมารวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ในจำนวนนี้ด้วย

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือโรคหัวใจขาดเลือด คือหนึ่งในโรคหัวใจที่เกิดจากหลอดเลือดแดงซึ่งเป็นทางไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงหัวใจเกิดการแข็งตัว หรือมีไขมันไปเกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือดจนหลอดเลือดแดงตีบแคบลง และเมื่อไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือดสะสมมากขึ้น ไขมันเหล่านี้ก็จะค่อยๆ พอกตัวขึ้นภายในหลอดเลือดทีละน้อย นานวันเข้าเลือดจะไหลไปสู่หัวใจได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจเข้าสู่ภาวะขาดเลือด และเมื่อหลอดเลือดแดงตีบจนอุดตันแล้ว ถึงเวลานั้นกล้ามเนื้อหัวใจจะตาย และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

1. หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

มีสาเหตุจากไขมันที่เกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดการแตกตัวและอุดตัน ทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจลดลง หรือหยุดชะงักไปในทันที ซึ่งมักแสดงอาการที่ทำให้รู้สึกถึงความเจ็บหน้าอกแบบทันทีทันใด ใจสั่น เหงื่อออกมาก ไปจนถึงอาการหมดสติและหัวใจหยุดเต้น โดยความรุนแรงจะสัมพันธ์กับระยะเวลาที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ยิ่งเข้าถึงการรักษาช้าเท่าไหร่ผู้ป่วยยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้นหากพบภาวะดังกล่าวจึงจำเป็นต้องรีบส่งตัวผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์ ให้ที่เร็วที่สุดเพื่อรีบทำการรักษาโดยการเปิดหลอดเลือด โดยอาจใช้วิธีใส่สายสวนหลอดเลือดหัวใจและทำบอลลูน หรือใช้ยาละลายลิ่มเลือด

2. หัวใจขาดเลือดเรื้อรัง

ผู้ป่วยมักมีอาการ เหนื่อยง่าย หรือแน่นหน้าอก มักจะสัมพันธ์กับการออกแรง เช่น ออกกำลังกาย เดินขึ้นบันได บางรายมีอาการร้าวไปที่ไหล่ซ้าย ต้องนั่งพักอาการถึงจะทุเลาลง หรือในบางรายอาจจะเป็นหลังจากทานอาหาร ทำให้แยกยากจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร หากพบอาการเหล่านี้แล้วไม่ควรลังเลใจ เพราะอาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบและต้องเข้าพบแพทย์โดยไวเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงหลอดเลือดตีบ

เช็กปัจจัยเสี่ยงใช้ชีวิตอย่างไร เร่งหลอดเลือดหัวใจตีบเร็ว

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบนั้นเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากภายในและภายนอกที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต

  • พันธุกรรม ในผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัว เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตั้งแต่อายุน้อย คือ น้อยกว่า 55 ปีในผู้ชาย หรือน้อยกว่า 65 ปี ในผู้หญิง จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น หรือมีโรคไขมันในเลือดสูงชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อม จึงต้องใช้เวลาในการสะสมของไขมันและหินปูน เพราะฉะนั้น อายุที่มากขึ้น ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นตาม โดยในผู้หญิงความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังวัยหมดประจำเดือน
  • โภชนาการเกินพอดี ปัจจุบันเรามักพบว่าโรคนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับอาหารการกินที่มีโภชนาการเกินพอดี อย่างอาหารจานด่วนที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว จนน้ำหนักตัวเกินกว่ามาตรฐาน 
  • โรคประจำตัว คนที่มีโรคประจำเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ไตเสื่อม โดยเฉพาะที่ควบคุมได้ไม่ดี มักเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบสูง
  • ไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองใหญ่ การใช้ชีวิตที่สั่งสมความเครียด สูบบุหรี่ และไม่ให้เวลากับการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้จะเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่สะสมปัญหา และก่อให้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค

สัญญาณอันตราย… โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • เจ็บแน่นบริเวณกลางอก : ในรายที่หัวใจขาดเลือดชั่วขณะ ความรู้สึกจะคล้ายถูกบีบรัด เหมือนมีของหนักมาทับไว้บนอก เจ็บร้าวไปถึงไหล่ คอ คาง มีอาการชาที่บริเวณกราม โดยเฉพาะแขนซ้ายและหลัง ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นทันทีทันใดประมาณ 2-3 นาที (ไม่เกิน 15 นาที) เมื่อออกแรง และจะดีขึ้นเมื่อได้หยุดพัก แต่อาจเจ็บนานกว่า 30 นาที หากหลอดเลือดหัวใจตีบขั้นรุนแรงแล้ว ในบางรายมีเหงื่อแตก ใจสั่น ร่วมด้วย
  • ปวดท้อง จุกแน่น คล้ายอาหารไม่ย่อย : อาการท้องอืดเฟ้อที่ดูคล้ายโรคกรดไหลย้อนก็อันตรายไม่แพ้กัน และยิ่งอาการจุกแน่นตรงลิ้นปี่เป็นช่วงสั้นๆ ปวดเค้น และกำเริบเป็นครั้งคราว อาจเป็นอาการที่กำลังบ่งบอกถึงภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั่นเอง
  • เวียนศีรษะ จะเป็นลม : ความดันเลือดของผู้ป่วยจะต่ำลง ชีพจรเต้นไม่คงที่ กระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น มีเหงื่อออกมากจนมองเห็นได้ชัดเจน ในผู้ป่วยบางรายที่หัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลวจะมีอาการหอบ เหนื่อย เขียว และไอให้เห็น ขณะเดียวกันผู้ป่วยบางรายอาจเป็นลมหมดสติและเสียชีวิตได้ในทันที
  • หายใจเหนื่อยหอบ : อาการหายใจได้ไม่เต็มปอด เหนื่อยหอบแต่ไม่สามารถนอนราบได้ ต้องหนุนหมอนสูงหลายใบ หรือในบางรายให้ประวัติ หลังจากนอนไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง ตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะมีอาการหอบเหนื่อย มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรง อันเป็นผลพวงมาจากภาวะหัวใจที่กำลังล้มเหลว ในบางรายที่รุนแรงอาจมีภาวะช็อกและหมดสติ หากมองจากประวัติความเจ็บป่วยเดิมอาจเห็นว่าเคยเจ็บหน้าอกเป็นพักๆ นำมาก่อนหลายสัปดาห์ หรืออาจไม่พบความผิดปกติใดมาก่อนเลยก็ได้

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ในผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดตีบตันเพียงบางส่วน หรือน้อยกว่า 70% จะยังรักษาได้ด้วยการใช้ยา อันได้แก่ยาต้านเกล็ดเลือด ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาลดไขมัน เป็นต้น ส่วนในรายที่หลอดเลือดตีบตันมาก เป็นเส้นสำคัญโดยเฉพาะตรงขั้วหัวใจ ได้รับการรักษาด้วยยาแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีการบีบตัวของหัวใจแย่ลง อาจจำเป็นต้องรับการรักษาโดยวิธีการเปิดหลอดเลือดทำบอลลูนสวนหัวใจร่วมกับการใส่ขดลวด แต่ถ้าหากไม่สามารถรักษาโดยวิธีข้างต้นได้เนื่องจากมีหินปูนมาก หรือมีหลอดเลือดตีบหลายเส้น ก็ยังสามารถรักษาได้โดยวิธีผ่าตัดทำบายพาสหลอดเลือด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหัวใจกับ ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ที่นี่

ตรวจสุขภาพหัวใจ

สำหรับทุกคนที่ต้องการการดูแลหัวใจ โรงพยาบาลวิมุตพร้อมด้วยทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพยินดีมอบการรักษาและบริการดูแลทุกภาวะหัวใจที่ต้องเผชิญ ด้วยแผนรับมือตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้แล้ววันนี้ กับแพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจแบบเจาะลึก Touch Your Heart Special D ครอบคลุมทุกรายละเอียดการตรวจถึง 19 รายการ ทั้งการตรวจสุขภาพทั่วไปและการตรวจสุขภาพหัวใจโดยเฉพาะทั้งคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG หรือ ECG) และการตรวจหาคราบหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (CAC) โดยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) ที่ให้คุณรู้ลึกทุกเรื่องหัวใจได้

ดูแลหัวใจให้แข็งแรงด้วยการหมั่นสังเกตสัญญาณอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้กับตัวเอง โดยเฉพาะผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและมีโรคประจำตัว เมื่อใดที่สัมผัสได้ถึงสัญญาณอันตรายบ่งบอกโรคหรืออาการไม่พึงประสงค์ จำเป็นต้องรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพหัวใจทันทีเพื่อวางแผนป้องกันก่อนเกิดโรค เพราะหากพบโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือโรคเส้นเลือดหัวใจตีบในช่วงเริ่มต้นจะช่วยให้การรักษาเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิตและทุพพลภาพได้ 

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ 

ศูนย์หลอดเลือดและหัวใจ ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต

เวลา 08.00-17.00 น. โทร 0-2079-0042

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ได้

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 


เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

อาการแน่นหน้าอก เจ็บหัวใจ เหนื่อยง่าย อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งโรคหัวใจต่างก็ถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายโรคและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กให้ชัวร์ เจ็บหน้าอกข้างซ้ายแบบนี้ เป็นโรคอะไรกันแน่

เปิดลิสต์เจ็บหน้าอกข้างซ้าย ที่อาจไม่ได้หมายถึงโรคหัวใจเสมอไป มาเช็กอาการให้ละเอียดกันว่าจริงๆ แล้วที่เจ็บอกข้างซ้ายอยู่นั้น เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง