5 อาการ “เนื้องอกมดลูก” ก้อนเนื้อ(ไม่)ร้าย ที่ไม่ควรมองข้าม

23 ม.ค. 67  | ศูนย์สูตินรีเวช
แชร์บทความ      

5 อาการ “เนื้องอกมดลูก” ก้อนเนื้อ(ไม่)ร้าย ที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri หรือ Uterine Fibroid) อาจเรียกได้ว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งสามารถพบได้ 1 ใน 3 ของวัยเจริญพันธุ์ และสามารถพบได้ถึงร้อยละ 25 ในผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แม้ว่าเนื้องอกในมดลูกมีโอกาสน้อยมากที่จะเป็นมะเร็ง แต่เมื่อเป็นแล้วก็สร้างความกังวลใจให้เราไม่น้อย โดยเนื้องอกมดลูกเกิดจากอะไร มีอาการเป็นอย่างไร มาดูข้อมูลไปพร้อมกันในบทความนี้

สาเหตุที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกนั้นเกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกโตมากเกินปกติ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมและฮอร์โมนเพศหญิงที่ถูกสร้างที่รังไข่ในร่างกาย ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกขึ้นได้

เนื้องอกมดลูกมีกี่ชนิด

เนื้องอกมดลูกมีทั้งเนื้องอกที่ไม่ใช่เนื้อร้ายและชนิดที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง แต่โดยส่วนใหญ่มากกว่า 80% เนื้องอกที่พบในมดลูกมักพบว่าเป็นเพียงเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่เนื้อร้ายเท่านั้น ลักษณะของเนื้องอกในมดลูกเรียกตามตำแหน่งที่เกิดขึ้น ดังนี้

  • เนื้องอกยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก (Submucosal fibroid) 
  • เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก (Intramural fibroid)
  • เนื้องอกนอกผนังมดลูก (Subserosal fibroid)

เนื้องอกมดลูก อาการเป็นอย่างไร

สำหรับในช่วงแรกมักไม่มีอาการหรือสัญญาณเตือนให้ทราบ แต่มักพบเจอได้จากการตรวจภายในผ่านการตรวจสุขภาพประจำปี และจะเริ่มพบอาการเมื่อก้อนเนื้องอกนั้นมีขนาดใหญ่มากขึ้นแล้ว โดยอาการมีดังนี้

1. ประจำเดือนมาผิดปกติ

มักพบว่ามีประจำเดือนมามากผิดปกติ ประจำเดือนมานาน มาแบบกะปริดกะปรอย มาบ่อยผิดปกติ รวมถึงมีลิ่มเลือด หรือเป็นก้อนเลือดปนมาจนทำให้เกิดภาวะซีดได้ โดยอาการเหล่านี้นับว่าเป็นสัญญาณเตือนและอาการบ่งชี้แรกๆ สำหรับความผิดปกติของเนื้องอกมดลูก

2. ปวดท้องน้อย

อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน ปวดหน่วงๆ คล้ายกับปวดท้องประจำเดือนแต่ไม่ได้เป็นประจำเดือน อาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของขนาดของก้อนเนื้องอก และการกดเบียดอวัยวะอื่นๆ ในอุ้งเชิงกรานได้

3. ท้องผูก

บางรายอาจพบว่าตัวเองมีอาการปวดหน่วงที่ทวาร ขับถ่ายลำบาก ท้องผูกเป็นประจำ อุจจาระลำเล็กลง เนื่องจากเนื้องอกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นไปกดทับบริเวณลำไส้ตรง หรือบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่ต่อกับทวารหนัก ทำให้เกิดปัญหาในการขับถ่ายได้ 

4. ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะลำบาก

เนื่องจากก้อนเนื้อที่ใหญ่ขึ้นอาจไปกดทับหรือเบียดกับกระเพาะปัสสาวะได้ ซึ่งในรายที่ก้อนเนื้ออยู่ด้านหน้าของกระเพาะปัสสาวะจะทำให้มีอาการปวดปัสสาวะบ่อย หรือในรายที่เนื้องอกอยู่ด้านหลังของกระเพาะปัสสาวะก็อาจทำให้ปัสสาวะลำบากมากขึ้นได้

5. คลำเจอก้อนที่ท้องน้อย

ในรายที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีจำนวนก้อนเนื้องอกมากขึ้น ก็อาจจะคลำพบก้อนเนื้อที่บริเวณท้องน้อย รวมถึงอาจสังเกตได้ว่าท้องน้อยโตขึ้น แม้ไม่ได้รับประทานอาหารจำนวนมากได้ 

นอกจากนี้อาจมาด้วยเรื่องของภาวะมีบุตรยากหรือแท้งบุตรได้ เพราะเนื้องอกขวางกั้นการฝังตัวของตัวอ่อนได้เช่นกัน 

วิธีการตรวจหาเนื้องอกมดลูก

  • แพทย์จะทำการซักประวัติและสอบถามอาการเบื้องต้น
  • ตรวจภายใน โดยแพทย์จะตรวจและคลำปากมดลูก และปีกมดลูกเพื่อหาความผิดปกติ
  • อัลตราซาวด์ 
  • ผ่านหน้าท้อง ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องกลั้นปัสสาวะให้เต็มที่ เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะดันลำไส้ที่อาจบดบังมดลูกให้ขึ้นไป เพื่อให้เห็นรายละเอียดที่มดลูกชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตามอาจมีข้อจำกัดในผู้ที่มีน้ำหนักมาก หรือไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
  • ผ่านช่องคลอด เป็นวิธีอัลตราซาวน์ที่เห็นอวัยวะในอุ้งเชิงกรานได้ชัดเจนที่สุด โดยแพทย์จะทำการสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์ทางช่องคลอด โดยที่ผู้เข้ารับการตรวจจะอยู่ในท่านอนบนขาหยั่งลักษณะเดียวกันกับท่าตรวจภายใน

แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูก มีวิธีไหนบ้าง

การรักษาเนื้องอกมดลูกจะขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก โดยมีแนวทางการรักษา ดังนี้

  • การตรวจติดตามและใช้ยาเพื่อควบคุมอาการผิดปกติ ในผู้ที่มีอาการไม่มาก หรือเนื้องอกมดลูกที่มีขนาดเล็ก แพทย์จะนัดติดตามเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงอาการและขนาดเนื้องอกมดลูก และให้รับประทานยาในรายที่พบอาการผิดปกติร่วมด้วย เช่น เพื่อบรรเทาอาการปวด หยุดเลือดที่ออกมากผิดปกติ ลดขนาดและควบคุมไม่ให้ก้อนเนื้องอกใหญ่ขึ้น
  • การผ่าตัด พิจารณาผ่าตัดในผู้ป่วยที่เนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่ หรือมีอาการผิดปกติที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาได้ โดยการผ่าตัดสามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ทั้งนี้วิธีการผ่าตัดอาจต้องพิจารณาตามแต่ละบุคคลดังนี้
  • ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เป็นการผ่าตัดเพื่อเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก ซึ่งจะพิจารณาผ่าตัดในผู้ป่วยที่ยังไม่มีบุตร หรือยังต้องการที่จะมีบุตรเพิ่ม 
  • ผ่าตัดมดลูก มักทำในผู้ป่วยรายที่ไม่ต้องการมีบุตร หรือมีบุตรเพียงพอแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการผ่าตัดมดลูกแบบมะเร็ง ใช้รักษาในรายที่ก้อนเนื้องอกมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมาก ซึ่งการผ่าตัดจะทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนรีเวชวิทยา และจำเป็นต้องมีการประเมินผู้ป่วยอย่างละเอียดก่อนการผ่าตัด

แม้ว่าโรคเนื้องอกมดลูกจะฟังดูไม่ร้ายแรง แต่หากปล่อยให้ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบอื่นๆ ในร่างกายซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อีกทั้งอาการแรกเริ่มสังเกตได้ยาก รวมถึงหลังการรักษาแล้วก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ควรเข้ารับการตรวจภายในตามความถี่ที่เหมาะสมกับช่วงอายุเป็นประจำ และหากพบว่าประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือนมาก ควรเข้าปรึกษาแพทย์เพื่อค้นหาความผิดปกติดังกล่าว

 

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ 

ศูนย์สูตินรีเวช ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต

เวลา 08.00-20.00 น. โทร. 0-2079-0066

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
พญ.พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
คุณแม่มือใหม่ ต้องเตรียมตัวอย่างไรหลังคลอด ?

ใกล้เวลาได้พบเจอกัน แต่คุณแม่มือใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง กับสิ่งที่ต้องเจอหลังคลอดลูก ที่นี่เราได้รวมข้อมูลเพื่อคุณแม่มือใหม่มาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ไขข้อข้องใจ ทำไมผู้หญิงถึงควรฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ?

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกได้จริงไหม จำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องฉีด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
4 มะเร็งร้ายที่ผู้หญิงต้องระวัง พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิง

เช็กให้ชัวร์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคน กับ 4 มะเร็งร้ายทำลายชีวิต ที่สาวๆ ต้องหมั่นสังเกต พร้อมโปรแกรมตรวจสุขภาพผู้หญิงปี 2567 ราคาพิเศษจาก รพ. วิมุต

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ก้าวสู่ชีวิตคู่อย่างมั่นใจ “ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน”

เริ่มต้นชีวิตคู่ที่สมบูรณ์แบบพร้อมสุขภาพดีไปด้วยกัน กับการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่และต้องตรวจอะไรบ้าง เรามีคำตอบมาให้แล้วที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง