“ท้องผูก” ปวดท้อง ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่… ถ่ายไม่ออก!

16 มี.ค. 66  | ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ
แชร์บทความ      

อาการ “ท้องผูก”

“ท้องผูก” ปวดท้อง ปัญหาการถ่ายที่ไม่ใช่เพียงแค่… ถ่ายไม่ออก!

ใครกำลังมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายหนัก โดยเฉพาะอาการท้องผูกอยู่บ้าง ? เราเชื่อว่าหลายคนคงจะยกมือขึ้นรัวๆ พร้อมกันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวออฟฟิศวัยทำงานที่พกความเครียดติดตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ ปัญหา “ท้องผูก” ฟังๆ ดูแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่สามารถสร้างความลำบากและรบกวนการใช้ชีวิตไม่น้อย ที่สำคัญการปล่อยให้อาการท้องผูกอยู่กับเราไปนาน ๆ จนต่อยอดเป็น “ท้องผูกเรื้อรัง” อาจกลายเป็นช่องทางที่นำไปสู่โรคอันตรายอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการรักษาที่ซับซ้อนกันเลยทีเดียว

อาการ “ท้องผูก” ไม่ใช่เพียงแค่ถ่ายไม่ออกเท่านั้น

เรื่องของท้องผูก หลายคนอาจมีคำถามที่สงสัยมานานว่าจริงๆ แล้วต้องไม่ถ่ายนานกี่วันถึงจะเรียกว่าท้องผูก อุจจาระสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นับเป็นอาการท้องผูกไหม หรืออุจจาระแข็ง ต้องออกแรงเบ่ง แบบนี้เรียกว่าท้องผูกได้หรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วการขับถ่ายที่ดีไม่จำเป็นต้องขับถ่ายทุกวัน เพียงแต่ต้องขับถ่ายได้ง่าย ไม่ต้องใช้แรงเยอะและไม่ใช้เวลานาน ซึ่งจริงๆ แล้วท้องผูกนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าแค่การไม่ถ่ายหรือถ่ายไม่ออก นั่นก็คือปัญหาถ่ายแล้วรู้สึกไม่หมดหรือถ่ายไม่สุด จนอาจจะทำให้ต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้งในหนึ่งวัน ถ่ายยาก ต้องใช้เวลานานหรือต้องออกแรงเบ่งเยอะ ถ่ายได้น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมถึงถ่ายแล้วรู้สึกเจ็บหรือถ่ายมีเลือดปน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายภาวะท้องผูกทั้งหมด

ชวนสังเกต สาเหตุที่ทำให้ท้องผูก เกิดจากอะไรได้บ้าง

ปัญหาท้องผูกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ แน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่มีสัดส่วนของกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย หรือกลั้นอุจจาระเป็นประจำ ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย โรคทางระบบประสาทหรือทางสมองเช่นโรคพาร์กินสัน หรือ หลอดเลือดสมองตีบ โรคต่อมไร้ท่อบางชนิด เช่น ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ หรือ โรคเบาหวาน และยาบางชนิดเช่นยารักษาความดันโลหิต ยารักษาพาร์กินสัน และ ยาแก้ปวดบางชนิด เป็นสาเหตุเบื้องต้นที่ทำเริ่มเกิดอาการท้องผูกได้ อย่างไรก็ดีในหากมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ยังต้องคำนึงถึงสาเหตุหลักเหล่านี้ประกอบกัน เพื่อรักษาให้ตรงสาเหตุ

ปัญหาการทำงานของลำไส้

ปัญหาการทำงานของลำไส้ เป็นปัญหาจากระบบการทำงานของลำไส้เองที่ทำให้ร่างกายเกิดปัญหาท้องผูก โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นปัญหาต่างๆดังนี้

  • กล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายทำงานไม่สัมพันธ์กัน ปัญหานี้เกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดไม่คลายเมื่อเบ่งอุจจาระ และอาจพบร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ถ่ายไม่ออก ทั้งยังต้องใช้ทั้งแรงเบ่งและเวลาในการขับถ่ายที่นานมากกว่าปกติ
  • การรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลายมีความผิดปกติไป ปกติเมื่ออุจจาระปริทาณที่เหมาะสมลงมาถึงลำไส้ส่วนปลาย จะมีการส่งสัญญาณไปถึงสมองเพื่อกระตุ้นให้มีการเกิดการขับถ่าย ความผิดปกติตรงระบบนี้ทำให้เรารู้สึกปวดถ่ายในเวลาที่อุจจาระปริมาณไม่เหมาะสม เช่นรู้สึกเร็วไป หรือช้าไป หรือ ไม่รู้สึกปวดถ่ายเลย ทำให้การขับถ่ายเป็นไปได้อย่างลำบาก
  • ลำไส้ใหญ่บีบตัวช้าหรือเคลื่อนตัวช้า ทำให้การเคลื่อนตัวของอุจจาระลงมาสู่สำใส้ใหญ่ส่วนปลายเป็นไปได้อย่างช้า และทำให้อุจจาระแข็งถ่ายลำบาก หรืออุจจาระแข็งถ่ายออกมาเป็นเม็ดเล็กๆ และรู้สึกไม่หมดได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นอาการท้องผูก ถ่ายไม่ออกอาจเป็นอาการนำหรืออาการแสดงของภาวะอุดกั้นของลำไส้ใหญ่ได้เช่น จากการมีเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ หรือจากการรัดของพังพืดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบเรื้อรังหรือภายหลังการผ่าตัดในช่องท้องทำให้ลำไส้มีการตีบแคบลง

ปัญหาท้องผูกเรื้อรังนั้นต้องรักษาที่สาเหตุ และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเริ่มมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม เราต้องสังเกตอาการและรีบหาสาเหตุ เพราะหากปล่อยไว้จนเกิดท้องผูกเรื้อรัง นั่นอาจกลายเป็นช่องทางสู่โรคอันตรายอื่นๆ อย่างริดสีดวง ลำไส้เป็นแผล และภาวะท้องผูกเองยังเป็นอาการนำหรืออาการที่บ่งชี้ถึงภาวะลำไส้อุดตัน หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

ท้องผูก เป็นแล้วหายได้

“ท้องผูก” เป็นแล้วหายได้ แค่ต้องแก้ให้ถูกวิธี

หลายคนพบว่าตัวเองมีปัญหาในการขับถ่าย ท้องผูก ถ่ายไม่ออก ก็จะเริ่มตั้งคำถามว่าท้องผูกกินอะไรดี หรือท้องผูกทำไงดี แน่นอนว่าเราสามารถเริ่มต้นแก้ไขพฤติกรรมและดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหาท้องผูกได้ง่ายๆ ดังนี้

  • รับประทานผัก ผลไม้มีกากใย อย่างที่เรารู้กันดีว่าการรับประทานผักหรือผลไม้ที่มีกากใยสูง จะช่วยอุ้มน้ำและรวมกลุ่มก้อนของเสีย ช่วยให้ร่างกายขับเคลื่อนของเสียหลังการดูดซึมสารอาหารออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ การดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมนอกจากจะดีต่อร่างกายแล้ว ยังดีต่อการขับถ่ายอีกด้วย เพราะน้ำจะช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่ม และถ่ายได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายไม่เพียงแต่ช่วยเรื่องเผาผลาญเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ภายหลังการออกกำลังกาย ทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
  • ฝึกหัดขับถ่ายเป็นเวลา การแก้ปัญหาท้องผูกข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน การจัดตารางเวลาเข้าห้องน้ำให้เป็นเวลาจะช่วยให้ร่างกายมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น รวมไปถึงไม่นำอุปกรณ์ต่างๆ เข่นมือถือ หรือ หนังสือ หรือทำสิ่งอื่นใดขณะทำการขับถ่าย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขับถ่ายให้ดีขึ้นได้นั่นเอง
  • หากมีปัญหาท้องผูกเรื้อรังควรเข้ารับการตรวจเพื่อสืบค้นสาเหตุ เพื่อรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ

ที่วิมุตเราเข้าใจทุกการเปลี่ยนแปลง และพร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจกับทุกโรคภัยและความเจ็บป่วยที่คุณเป็น ที่นี่เราเปิดบริการศูนย์เฉพาะทางเรื่องท้องผูกและกรดไหลย้อนที่จะเข้ามาช่วยตรวจหาสาเหตุท้องผูกเรื้อรัง เพื่อรักษาให้ตรงจุด ที่ให้บริการตรวจปัญหาทางท้องผูก ดังนี้ ซึ่งมีบริการในโรงพยาบาลวิมุต

  1. High resolution anorectal manometry ซึ่งจะตรวจ 2 ส่วนด้วยกัน โดยตรวจความสัมพันธ์และการทำงานของกล้ามเนื้อในการขับถ่ายและความรู้สึกรับรู้เวลาอุจจาระลงมาในล้ำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (หรือความรู้สึกปวดถ่าย ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนมากที่พบได้ในภาวะท้องผูกเรื้อรังและมีโอกาสสูงที่จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการรักษาที่เรียกว่า Biofeedbcak therapy 
  2. Colonic transit study หรือการตรวจการตัวของอุจจาระในลำไส้ใหญ่ ซึ่งจะได้ประโยชน์ในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะ ลำไส้ใหญ่บีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้า (slow transit constipation) 
  3. การส่องกล้อง colonoscopy เป็นการตรวจลําไส้แบบส่องกล้อง ซึ่งจะทำในรายที่สงสัยว่าอาจจะมาจากการอุดกั้น หรืออุดตันของลำไส้ใหญ่ ในผู้ป่วยที่มีประวัติเสี่ยงหรือประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็ง หรือในผู้ป่วยที่มีเลือดออกร่วมมีภาวะซีด ปวดท้อง หรือน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ ด้วย ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  4. ตรวจจุลินทรีย์ทางเดินอาหารและลำไส้ (Gut Microbiome) การตรวจจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นการค้นหาความสมดุล (Balance) และความหลากหลาย (Diversity) ของสายพันธุ์จุลินทรีย์ในลำไส้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอย่างอาการท้องผูก รวมไปถึงระบบการเผาผลาญ หรือระบบภูมิคุ้มกันในบางส่วนที่เกิดขึ้นกับสุขภาพร่างกาย

ท้องผูก อย่าปล่อยให้เรื้อรัง

 

การขับถ่ายอาจดูเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนแต่ปัญหาท้องผูกเรื้อรังกลับเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก หากลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แก้ปัญหาท้องผูกด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น การตรวจเพื่อหาสาเหตุ และ การรักษาที่ตรงกับสาเหตุสามารถช่วยแก้ปัญหาเรื้อรังที่กวนใจมาเป็นเวลานานและ ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของเราได้ ท้องผูกไม่ได้เท่ากับยาระบายหรือ การdetoxเสมอไป สามารถปรึกษาเพื่อรับคำแนะนำทั้งในเรื่องของโรค การปฏิบัติตัว หรือ ตรวจและรักษาตามสาเหตุได้

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ ชั้น 5 โรงพยาบาลวิมุต
เวลา 08:00-20:00 น. โทร. 0-2079-0054  
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

แนะนำแพทย์ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
นพ.กุลเทพ
รัตนโกวิท
อายุรแพทย์
แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
ไขมันพอกตับ ภาวะอันตรายที่คุณเสี่ยงแค่ไหน? มาเช็กกัน !

ไขมันพอกตับ ภาวะร้ายทำลายตับ ที่อาจทำให้คุณเสี่ยงเป็นตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ ชวนคุณสังเกตอาการได้อย่างไร การตรวจและการรักษาทำอย่างไร เรามีข้อมูลมาให้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการแบบไหนต้องระวัง รีบเช็กด่วน!

ปวดท้องบ่อย ท้องผูกบ่อยและมีเลือดออกมาพร้อมอุจจาระ อาการแบบนี้คุณอาจกำลังเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ มาเช็กอาการและสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ปวดท้องบิดเกร็ง อาจะเป็น “ลำไส้แปรปรวน” ที่ทำให้ชีวิตคุณต้องชะงัก

ปวดท้องบิดเกร็ง บริเวณตรงกลางหรือท้องน้อย เป็นๆหายๆ ถ่ายไม่ออก ท้องเสียไม่พัก อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นโรคลำไส้แปรปรวนรึเปล่า? เพราะอาการเหล่านี้มักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ชวนทุกคนมาสังเกตอาการไปพร้อมกับเรา

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เช็กลิสต์กรดไหลย้อน อาการแบบนี้คุณกำลังเป็นอยู่หรือไม่?

กินแล้วนอนประจำ เริ่มมีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคกรดไหลย้อน! มาเช็กอาการ พร้อมวิธีการตรวจจากแพทย์เฉพาะทางและรักษาก่อนเป็นหนักได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติม