ค่าน้ำตาลในเลือด สูงแค่ไหนเสี่ยงเป็นเบาหวานได้

16 มิ.ย. 66  | ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก
แชร์บทความ      

ค่าน้ำตาลในเลือด สูงแค่ไหนเสี่ยงเป็นเบาหวานได้

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการน่าเป็นห่วงสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะการปล่อยให้ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนาน จะส่งผลต่อเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อมประสิทธิภาพในการทำงานลง หลายคนพอได้รู้แบบนี้แล้วก็อาจจะเริ่มกลัว และสงสัยว่าอาการแบบไหนคือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงแล้ว หรือถ้าคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานแต่ติดกินหวานเป็นประจำจะเสี่ยงน้ำตาลในเลือดสูงได้หรือไม่ เราลองมาหาคำตอบกัน

ทำความรู้จักน้ำตาลในเลือดสูง

น้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ โดยเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulrin) ในการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากคนที่เป็นโรคเบาหวานและคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารประเภทแป้ง คาร์โบไฮเดรตสูง แล้วไม่ออกกำลังกาย รวมถึงคนที่ติดหวาน รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงหรือของหวานเป็นประจำ ซึ่งอาหารต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ฮอร์โมนอินซูลินที่หลั่งมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไม่หมด และเกิดการสะสมอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เสี่ยงต่อชีวิตได้

ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเท่าไหร่ถึงจะเรียกว่า “ไม่ปกติ”

การตรวจเบาหวาน หรือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดควรจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ โดยที่ค่าปกติของระดับน้ำตาลในเลือดควรจะอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ถ้าตรวจวัดและมีค่าตัวเลข 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่ามีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน หรือที่เรียกว่าเป็นภาวะก่อนเบาหวาน

อ่านเรื่องราวความรู้ดีๆ เกี่ยวกับ… โรคเบาหวานกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจได้โรคเพิ่ม กันไว้ก่อนดีกว่ารักษา

อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นอย่างไร

ปกติแล้วอาการของคนมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ในช่วงแรกจะไม่แสดงอาการอะไรให้เห็นอย่างชัดเจนจนกว่าจะเจาะเลือดและวัดระดับค่าน้ำตาลในเลือดถึงจะรู้ว่ามีน้ำตาลในเลือดสูง แต่ทั้งนี้เราจะสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายได้เมื่อระดับน้ำตาลเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยมีอาการ ดังนี้ 

  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะตอนกลางคืน เพราะไตไม่สามารถกรองน้ำตาลส่วนเกินได้ จึงต้องขับออกมาทางปัสสาวะแทน
  • คอแห้ง หิวน้ำบ่อย เพราะร่างกายต้องขับน้ำตาลออกมาพร้อมปัสสาวะ ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ จึงทำให้รู้สึกคอแห้ง หิวน้ำบ่อยมากขึ้น
  • มองไม่ชัด เห็นภาพเบลอ ภาพซ้อน น้ำตาลส่วนเกินที่สะสมอยู่ในเลือดสามารถเข้าไปคั่งในเลนส์ตาและทำให้เส้นเลือดประสาทตา (Retina) ผิดปกติ และทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว เห็นภาพเบลอ ภาพซ้อนได้ ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นของเบาหวานขึ้นตา

  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลออกมาเป็นพลังงานได้ ร่วมกับปัสสาวะบ่อยทำให้ร่างกายขาดน้ำ รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีอาการหนาวสั่น และอาจมีอาการกระวนกระวายร่วมด้วยได้
  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานไม่ได้ ร่างกายจึงนำโปรตีนและไขมันที่สะสมไว้มาใช้แทน จึงทำให้มวลร่างกายและน้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่รู้ตัว
  • แผลหายช้า เมื่อน้ำตาลสะสมในเลือดสูงจะทำให้เลือดภายในหลอดเลือดไหลเวียนได้ไม่ดี เลือดหนืด เส้นประสาทและการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นเมื่อเป็นแผลกระบวนการซ่อมแซมจึงช้าลง ส่งผลให้แผลหายช้า หรือบางคนเรียกว่าแผลเบาหวานนั่นเอง

ทั้งนี้สำหรับคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากการสะสมของสารคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นของเสียที่อยู่ในเลือดและปัสสาวะได้ โดยสังเกตได้จากลมหายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้, หายใจสั้น-ถี่, ปากแห้ง, คลื่นไส้ อาเจียน, ปวดท้อง, อ่อนเพลีย, น้ำหนักลดบางคนที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการสับสน ซึมลง หมดสติและเสี่ยงต่อชีวิตได้ แนะนำให้นำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

ระวังภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็นเบาหวานโดยไม่รู้ตัว…  

เข้ามาตรวจสุขภาพกับ ตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ในราคาโปรโมชันพิเศษได้ที่นี่ 

ปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงนานๆ เสี่ยงให้เกิดอันตรายกับร่างกายอย่างไร

การปล่อยให้น้ำตาลในเลือดสูงนานๆ ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่อันตรายต่อชีวิต โดยจะทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ส่งออกซิเจนได้น้อยลง และส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เสื่อม ดังนี้ 

  • ตาเสื่อม จอประสาทตาเสื่อม ตาบอด
  • ไตเสื่อม ไตวาย
  • ปลายประสาทเสื่อม
  • หัวใจขาดเลือด หัวใจวาย
  • หลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ แตก ตัน อัมพาต
  • แขนและขาขาดเลือด ที่ทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียอวัยวะ

สุดท้ายนี้หากรู้ว่าตัวเองเข้าข่ายเสี่ยงหรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แนะนำให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด หรือเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน พร้อมกับหลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มที่มีน้ำตาลสูง หรือกลุ่มแป้งขัดขาว และหันมารับประทานอาหารกลุ่มแป้งไม่ขัดสีอย่างข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสีแทน รวมถึงผัก-ผลไม้ที่รสชาติไม่หวานมาก ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยในคุณดูแลค่าระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้แล้ว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก ชั้น 3 โรงพยาบาลวิมุต
เวลา 07.00-19.00 น. โทร. 0-2079-0070 
หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ผู้เขียน
นพ. ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
13 วิธีดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานในยุค COVID-19

เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ covid-19 โดยโรคเบาหวานนั้นจะทำให้ติดเชื้อ covid -19 ได้ง่ายกว่าบุคคลทั่วไป และหากติดเชื้อแล้วจะมีผลทำให้เกิดพาวะแทรกซ้อนมากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเบาหวาน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
เป็นเบาหวานตั้งครรภ์ได้ไหม ?

เพราะการสร้างครอบครัวคือหนึ่งในความฝันของผู้หญิงหลายๆ คน แต่สำหรับคนที่เป็นเบาหวานคงกังวลไม่น้อยว่าจะมีลูกได้ไหม ปลอดภัยหรือเปล่า เรามาฟังคำตอบกันที่นี่

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
สายกินต้องระวัง โรคอันตรายจากไขมันที่ต้องรู้ !

สายกินต้องระวัง! อาหารไขมันสูง ของทอดแสนอร่อยที่แฝงไปด้วยโรคไขมันตัวร้าย มาดูความลับทั้งประโยชน์และโทษของไขมัน ที่บั่นทอนสุขภาพคุณจนอาจเป็นโรคร้ายแรงได้มากกว่าที่คิด

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
3 สัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังลดน้ำหนักผิดวิธี

เชื่อว่าหลายคนยังมีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก แต่ปัญหาที่มักพบ คือ ลดน้ำหนักไม่สำเร็จสักที หรืออาจลดได้แค่ช่วงสั้นๆ แล้วกลับมาน้ำหนักเท่าเดิม ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการลดน้ำหนักอย่างผิดวิธี

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง