6 อาการสัญญาณเตือนกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ที่ต้องระวัง

13 ก.ค. 66  | ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด
แชร์บทความ      

6 อาการสัญญาณเตือนกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ที่ต้องระวัง

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับอาการเหล่านี้ อยู่ๆก็รู้สึกใจสั่น ใจเต้นรัวแปลกๆ เจ็บแน่นหน้าอกข้างซ้าย เวียนหัว หน้ามืด แขน ขาและเท้าดูบวมน้ำจนสังเกตได้ คุณอาจจะกำลังเสี่ยงกับ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (Cardiomyopathy)” ก็เป็นได้ สำหรับใครที่กำลังคิดว่าตัวเองอาจเข้าข่ายเสี่ยง เรามาดูสาเหตุและอาการของโรคนี้กันว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้คุณได้นำไปเช็กอาการเบื้องต้นกัน

กล้ามเนื้อหัวใจ สำคัญอย่างไร

กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นส่วนหนึ่งของผนังหัวใจห้องล่างทั้งซ้ายและขวา มีหน้าที่ในการบีบตัวเพื่อส่งเลือดให้ไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยห้องล่างซ้ายจะส่งเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ส่วนห้องล่างขวาจะบีบเลือดที่ใช้แล้วซึ่งมีออกซิเจนต่ำกว่าไปฟอกที่ปอด ก่อนจะไหลกลับไปที่ห้องล่างซ้าย เพื่อส่งต่อไปอวัยวะต่างๆ อีกครั้ง ดังนั้น หากกล้ามเนื้อหัวใจเกิดปัญหา เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงทำให้มีการบีบตัวของหัวใจทำได้น้อยลง ส่งผลให้การขนส่งออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ได้น้อยลง ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะนั้นๆ ก็จะลดลง และอาจนำไปสู่อาการเหนื่อยง่าย และเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด 

สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งกรรมพันธุ์ โรคประจำตัว และภาวะต่างๆ อย่างเช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเสื่อม การติดเชื้อที่หัวใจอย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ การดื่มสุราหรือแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นเวลานาน ความเครียดสะสม รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอื่นๆ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติที่ไม่ได้รับการรักษา ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นเวลานานๆ หรือบางครั้งก็ไม่พบสาเหตุที่สามารถบอกชัดเจนได้ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงได้เช่นกัน

5 อาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ที่สังเกตได้และต้องระวัง

สำหรับอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงนั้น ในระยะแรกบางคนอาจไม่มีอาการ หรือพบสัญญาณผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ แต่เมื่อรอยโรคดำเนินต่อและหนักขึ้นก็จะแสดงอาการให้ร่างกายรู้สึกได้ ดังนี้

1. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย

ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็จะรู้สึกอ่อนเพลียหรืออ่อนล้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือกิจกรรมประจำวันที่เคยทำได้โดยไม่มีปัญหา ก็จะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่สดชื่น

2. เจ็บแน่นหน้าอก ไอ หายใจเหนื่อยหอบ

รู้สึกเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ หรือมีอาการหายใจตื้นๆ ถี่มากขึ้นเมื่อได้ทำกิจกรรม ขณะที่รู้สึกเหนื่อย แม้กระทั่งขณะพัก นั่ง นอนท่าเดิมนานๆ หรือไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรก็รู้สึกหายใจไม่อิ่มได้เช่นกัน อีกทั้งรู้สึกตัวตอนกลางคืน หรือต้องตื่นบ่อยๆ เพราะไอ หรือรู้สึกหายใจลำบาก โดยเฉพาะในท่านอนหงายที่ทำให้รู้สึกหายใจลำบากมากขึ้น

3. เท้าบวม

ในบางคนจะรู้สึกและสังเกตได้ว่าแขน ขา ข้อเท้า หรือเท้าบวมมากขึ้น บางครั้งรู้สึกเจ็บตามข้อเท้าและเท้าร่วมด้วย ซึ่งกรณีนี้เกิดจากการที่มีการคั่งของน้ำและเกลือโซเดียม จากการที่หัวใจบีบตัวได้ลดลง และอาจร่วมกับการมีภาวะไตวายจากภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังเอง อีกด้วย ทำให้มีน้ำคั่งตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่งผลให้แขน ขา หรือเท้า เกิดการบวมน้ำขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นวงจรที่จะทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวรุนแรงขึ้นได้

4. รู้สึกใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว

โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงนี้ บางคนอาจมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วได้ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติในการสร้างสัญญาณไฟฟ้า ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติไป อาจพบเป็นการเต้นเร็ว หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ รวมถึงอาจทำให้รู้สึกเจ็บอก หายใจไม่อิ่มได้เช่นกัน

5. เวียนหัว หน้ามืด

ในบางครั้งขณะทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง แม้การนั่งหรือยืนเฉยๆ โดยไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรอาจรู้สึกเวียนหัว หรือมีอาการหน้ามืดขึ้นมาได้ เนื่องจากผลกระทบของแรงบีบตัวจากกล้ามเนื้อหัวใจ ที่ใช้ส่งเลือดพร้อมออกซิเจนให้ไหลเวียนไปยังสมองได้น้อยลง เมื่อสมองได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด หรือเห็นภาพไม่ชัดชั่วคราวได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้หากล้ม หรือหน้ามืดแล้วทำให้เกิดอุบัติเหตุ

นี่คืออาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงที่เราได้นำมาเป็นข้อมูลให้กับคนที่กำลังสงสัยว่าเข้าข่ายเสี่ยง มีอาการน่ากังวลได้เช็กในเบื้องต้นกัน ในส่วนของวิธีการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงนั้น สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการรุนแรงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทานยา ติดอุปกรณ์ หรือทำการผ่าตัดหัวใจ แต่ควรรับยาตามธรรมชาติจากการดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ อาหารที่มีไขมันสูง ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีขึ้น

ส่วนผู้ที่มีอาการมาก แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการรักษาตามลำดับและอาการที่เป็น ทั้งนี้หากรู้สึกว่ามีอาการเจ็บอก แน่นอก หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการหน้ามืด วูบ หมดสติ ผู้ใกล้ชิดหรือญาติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันทีเพราะอาจเกิดปัญหาภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 08.00 - 17.00 น. โทร. 0-2079-0042

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

ผู้เขียน
นพ. ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ

เรื่องสุขภาพน่ารู้ที่เกี่ยวข้อง

Card Image
5 โรคหัวใจที่คุณควรรู้ สาเหตุเกิดจากอะไร เช็กอาการเสี่ยงก่อนสาย!

อาการแน่นหน้าอก เจ็บหัวใจ เหนื่อยง่าย อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ ซึ่งโรคหัวใจต่างก็ถูกแบ่งออกไปได้อีกหลายโรคและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่จะมีอะไรบ้างไปดูกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
5 ท่าออกกำลังกาย สร้างสุขภาพดี หัวใจแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

มาดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วย 5 ท่าออกกำลังกายบริหารหัวใจ ที่จะช่วยให้หัวใจของคุณมีสุขภาพแข็งแรง รับรองว่าดีต่อร่างกายและดีต่อใจอย่างแน่นอ

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
ชวนเช็กอาการ เจ็บหน้าอกแบบนี้… อาจเสี่ยงโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ

เจ็บหน้าอก ใจสั่น อย่าวางใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือน “โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเส้นเลือดหัวใจตีบ” ได้ มาสังเกตอาการพร้อมข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้เพื่อการดูแลและป้องกันอย่างถูกวิธีกัน

อ่านเพิ่มเติม
Card Image
อย่าปล่อยไขมันในเลือดสูงปรี๊ด ถ้าไม่อยากเสี่ยงสารพัดโรค

ไขมันในเลือดสูง ภาวะอันตรายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังได้ในอนาคต มาเริ่มต้นทำความรู้จักและปรับพฤติกรรม เพื่อลดโอกาสเกิดไขมันในเลือดสูงไปพร้อมกันในบทความนี้

อ่านเพิ่มเติม

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง