10 โรคต้องระวังในผู้สูงอายุ โรคยอดฮิตที่สมาชิกสูงวัยเป็นกันเยอะ

18 ส.ค. 66 
แชร์บทความ      

10 โรคต้องระวังในผู้สูงอายุ โรคยอดฮิตที่สมาชิกสูงวัยเป็นกัน

เมื่อวันเวลาผ่านไป อายุที่เพิ่มขึ้นมักจะมาพร้อมกับความเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยเฉพาะในผู้สูงวัยที่ร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เหมือนวัยหนุ่มสาวที่ผ่านพ้นมา ทำให้ผู้สูงวัยหลายคนพบเจอกับโรคภัยต่างๆ ที่มากับความเสื่อมสภาพของร่างกายร่วมกับการเจ็บป่วยที่สะสมเอาไว้ตั้งแต่วัยหนุ่มสาว หรือวัยทำงาน วันนี้เรามาดูกันว่าโรคฮิตในผู้สูงอายุที่เรามักจะพบเจอนั้นมีอะไรบ้าง พร้อมอาการเบื้องต้นเพื่อให้คุณ ลูกหลานและผู้ดูแลผู้สูงอายุได้สังเกตอาการของโรคกันตั้งแต่เนิ่นๆ

10 โรคฮิตในผู้สูงอายุ หรือคนแก่ ที่พบบ่อยและควรเฝ้าระวัง

  1. โรคความดันโลหิตสูง 

สำหรับโรคความดันโลหิตสูงในผู้สูงอายุ หรือในทุกช่วงวัย พบว่า 80-90% เป็นโรคที่ไม่มีสาเหตุชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่พบว่ามีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น โรคอ้วน, สูบบุหรี่, ความเครียด เป็นต้น ซึ่งโรคนี้เป็นต้นตอก่อให้เกิดโรคอันตรายต่อชีวิตอีกหลายโรคด้วยกัน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ไตเสื่อมหรือไตวายเรื้อรังได้

อาการ : โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่ในบางรายอาจมีอาการเล็กน้อยที่สามารถพบได้บ่อยๆ เช่น ปวดหัว มึนงง หน้ามืดเป็นลม เป็นต้น 

  1. โรคเบาหวาน

โรคเบาหวานกับผู้สูงอายุ มักเกิดจากความเสื่อมสภาพของตับอ่อนที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยลง ทำให้ควบคุมสมดุลระดับน้ำตาลในเลือดได้ลดลง รวมถึงยิ่งอายุเยอะก็ทำให้มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้น จึงทำให้โรคเบาหวานพบได้มากขึ้นในผู้สูงอายุ 

อาการ : อาการของโรคเบาหวานส่วนมากมักหิวบ่อย กินจุ คอแห้ง หิวน้ำและปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะตอนกลางคืน อ่อนเพลียไม่มีแรง สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด เป็นแผลง่ายแต่หายช้า 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการโรคเบาหวานได้ที่นี่

  1. โรคไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงเป็นภาวะที่มีคอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือดสูง ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยไขมันในเลือดสูงนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ ยารักษาโรคประจำตัวบางชนิด รวมถึงพฤติกรรมการกินที่ชอบกินของทอด หรือเนื้อสัตว์ติดมันเป็นประจำ

อาการ : โรคไขมันในเลือดสูงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและอัมพฤกษ์ ซึ่งความน่ากลัวของผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงมักจะไม่มีอาการแสดงใดๆ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กค่าไขมันในเลือด หรือบางคนที่มีสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ จะสามารถสังเกตปื้นสีเหลืองที่ผิวหนังบริเวณหนังตา ข้อศอก หัวเข่า และฝ่ามือได้

  1. โรคทางตา 

ความผิดปกติกับตา หรือที่เรามักจะเรียกกันว่าโรคต้อตา หรือตาเป็นต้อ โดยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากความเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา เหยื่อบุตา หรือจอประสาทตา ที่ส่งผลให้เกิดโรคต้อตาทั้ง 4 โรค คือ ต้อเนื้อ ต้อกระจก ต้อหินและต้อลม

อาการ : สำหรับต้อเนื้อ จะสังเกตได้ว่ามีเนื้อเยื่อสีขาวยื่นเข้าไปในตาดำ ร่วมกับอาการตาแดง ระคายเคือง ส่วนต้อลมจะสังเกตเห็นเป็นก้อนเนื้อสีขาวนูนที่หัวตาร่วมกับอาการคัน ระคายเคือง สำหรับต้อหินในช่วงแรกมักไม่มีอาการ แต่เมื่อโรครุนแรงขึ้นจะเริ่มสังเกตว่าการมองเห็นจำกัดวงแคบลง และต้อกระจกมักจะสังเกตได้ว่าตาดำขาวขุ่นมากขึ้น ร่วมกับตาไม่สู้แสง มองเห็นภาพซ้อนและพร่ามัว 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติ่มเกี่ยว 4 โรคต้อตาได้ที่นี่ (รอบทความขึ้นเว็บก่อน)

  1. โรคทางระบบประสาทและสมอง

สำหรับสมองและหลอดเลือดสมองเป็นอีกโรคในผู้สูงอายุที่หลายคนต้องนึกถึง ไม่ว่าโรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมสภาพของสมองทำให้สูญเสียความทรงจำและการเรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ ไป หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stoke) ที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดบริเวณสมอง ที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้

อาการ : โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ผู้สูงวัยมักมีอาการหลงๆ ลืมๆ สับสนเวลาและวัน มีบุคลิกภาพและอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองมักพบว่าการทรงตัวมีปัญหา สายตาพร่ามัว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงใน 24 ชั่วโมง โดยหากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาโดยด่วน

  1. โรคหัวใจขาดเลือด

อีกหนึ่งโรคยอดฮิตในผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักมาจากภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งมาจากการเลือกกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูง ร่วมกับไลฟ์สไตล์ที่ห่างไกลการออกกำลังกายและเต็มไปด้วยความเครียด ทำให้ไขมันอุดตันตามเส้นเลือดและส่งผลให้การไหลเวียนเลือดแย่ลง

อาการ : โรคหัวใจขาดเลือดส่วนมากอาการมักจะแสดงเมื่อโรคดำเนินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยจะรู้สึกเจ็บแน่นบริเวณกลางอก หายใจเหนื่อยหอบ ปวดท้อง จุกแน่น คล้ายอาหารไม่ย่อย เวียนศีรษะ จะเป็นลม 

อ่านรายข้อมูลเกี่ยวกับโรคหัวใจชาดเลือดเพิ่มเติมได้ที่นี่

  1. โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ 

สำหรับปัญหาสุขภาพความแข็งแรงของกระดูกในผู้สูงวัย มักแปรผันตามอายุที่ร่วงโรย เพราะเมื่ออายุมากขึ้น มวลกระดูกก็สลายตัวได้ง่ายขึ้น อีกทั้งน้ำไขข้อ หรือความยืดหยุ่นของคอลลาเจนในข้อต่อต่างๆ ก็ลดน้อยลง ทำให้ผู้สูงอายุ หรือคนแก่ในบ้านมักพบเจอกับโรคกระดูกและข้อ อย่างเช่น เก๊าท์ กระดูกพรุน ข้อเข่าเสื่อม

อาการ : สำหรับโรคกระดูกและข้อเป็นอีกโรคที่ในระยะแรกไม่มีสัญญาณเตือนให้รู้ตัวใดๆ แต่เมื่อโรคสะสมตัวมากขึ้น ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกปวดตามข้อต่างๆ ใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากขึ้น หรือหากเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น หกล้ม ก็อาจทำให้กระดูกร้าว หรือแตกหักได้ง่ายในผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน

  1. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร 

สำหรับโรคระบบทางเดินอาหารในผู้สูงอายุก็เป็นโรคที่สามารถพบเจอได้บ่อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาท้องผูก ที่เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวได้น้อยลง อีกทั้งดื่มน้ำและกินอาหารที่มีกากใยได้น้อย จึงทำให้ขับถ่ายได้ยากขึ้น รวมถึงยารักษาโรคประจำตัวบางชนิดก็ส่งผลให้ท้องผูกได้เช่นกัน ซึ่งการปล่อยให้ท้องผูกหรือท้องเสียเกิดขึ้นบ่อยๆ จนทำให้เป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังในผู้สูงอายุ สามารถทำให้เกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

อาการ : สำหรับอาการท้องผูกในคนแก่ หรือผู้สูงวัยมักมีการถ่ายน้อยลง ถ่ายเป็นก้อนเล็กๆ แข็งๆ ร่วมกับท้องอืด มีลมในท้อง ปวดท้อง แต่สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่มักไม่มีอาการแสดงใดๆ ในช่วงแรก แต่มักจะมีอาการของลำไส้อักเสบเรื้อรัง ท้องเสียสลับท้องผูกเป็นประจำ 

  1. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ 

นอกจากเรื่องของโรคระบบทางเดินอาหารแล้ว โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ ทั้งปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะเล็ด ต่อมลูกหมากโตในผู้ชายก็มีอัตราสูงขึ้น เนื่องจากความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ เสื่อมถอยลง ตลอดจนภาวะไตเสื่อม ที่ทำงานบกพร่องและไม่สามารถขับน้ำและของเสียออกจากร่างกายได้ ซึ่งอาจทำให้มีน้ำในร่างกายเยอะและเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้

อาการ : ปัญหากลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะเล็ด มักชัดเจนเมื่อต้องออกแรงยกของ ไอ หรือจาม จะทำให้มีปัสสาวะซึมออกมาได้ ส่วนต่อมลูกหมากโตมักมีทั้งอาการปัสสาวะไม่ออกและกลั้นไม่อยู่ ที่คล้ายกับปัสสาวะเล็ด ส่วนภาวะไตเสื่อมมักมีอาการขาบวมร่วมกับปัสสาวะไม่ค่อยออก หรือน้อยลง และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เซื่องซึมลง สับสนร่วมด้วยได้ ซึ่งอาการเหล่านี้หากผู้ดูแลผู้สูงวัยสังเกตพบ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจหาสาเหตุก่อนอันตรายถึงชีวิต  

  1. โรคซึมเศร้า

นอกจากโรคยอดฮิตของคนแก่ หรือผู้สูงวัยจะเป็นเรื่องของสุขภาพร่างกายแล้ว สุขภาพใจของผู้สูงวัยก็เป็นอีกโรคที่เราสามารถพบเจอได้บ่อยเช่นกัน โดยเฉพาะโรคซึมเศร้าที่เกิดจากทั้งตัวร่างกายที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ดั่งใจ ฮอร์โมนที่แปรปรวนยากจะควบคุม รวมถึงการสูญเสียคนรอบตัวและโรคประจำตัวที่ต้องรักษาอยู่เสมอ

อาการ : โดยส่วนมากผู้สูงวัยที่เป็นโรคซึมเศร้าจะสนใจสิ่งที่เคยชอบลดลง พูดน้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แต่ในบางรายก็ไม่แสดงอาการใดๆ เก็บงำความรู้สึกไม่อยากดำเนินชีวิตต่อไปไว้ในใจลำพัง ซึ่งกลุ่มนี้ผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกตและควรนำมาพบแพทย์อย่างเร่งด่วนและวางแผนการดูแลอย่างเหมาะสม

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพจิตผู้สูงวัยเพิ่มเติมได้ที่นี่

ใจความสำคัญของโรคยอดฮิตในคนแก่ หรือผู้สูงวัยที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าโรคส่วนใหญ่มักไม่มีอาการแสดงในช่วงแรก จะรู้สึกหรือสังเกตได้ก็ต่อเมื่อโรครุนแรงขึ้นแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ จึงขอแนะนำให้พาสมาชิกสูงวัยในบ้านมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี 

โรงพยาบาลวิมุต เราใส่ใจสุขภาพของทุกเพศทุกวัย ที่นี่เราออกแบบแพ็กเกจโปรแกรมตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงวัยและเหมาะกับแต่ละเพศ หากสนใจรายละเอียดแพ็กเกจโปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงวัย สามารถคลิกดูรายละเอียดได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้

จะเห็นได้ว่าเมื่อร่างกายเราเสื่อมสภาพตามวัย โรคภัยต่างๆ ก็พร้อมที่จะเข้ามาทักทายได้อยู่ตลอดเวลา ดังนั้นอย่าลืมหันกลับมาดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงในผู้สูงวัยที่เริ่มมีอาการตามข้างต้น แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคอย่างตรงจุด พร้อมกับดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอทั้งการรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามโภชนาการและโรคที่เป็น ออกกำลังกายในท่าที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ และที่สำคัญควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำ เพื่อดูแลสุขภาพองค์รวมและตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นด้วย เพียงเท่านี้… คุณก็จะเป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรงตามวัยได้แล้ว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่
ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ ชั้น 6 โรงพยาบาลวิมุต 

เวลาทำการ 07.00-16.00 น. หรือ โทร. 0-2079-0044

หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือบริการปรึกษาหมอออนไลน์ 

 

ทุกปัญหาสุขภาพ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางออนไลน์ ที่พร้อมดูแลคุณด้วยความใส่ใจ

 

ผู้เขียน
นพ. บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

แนะนำแพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง